การกำหนดสถานการณ์จำลองของ ธปท. เพื่อการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) ตามแนวนโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาดของสถาบันการเงิน และการปรับปรุงแบบรายงานการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาด

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday March 23, 2005 10:54 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                           23     มีนาคม  2548 
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุน ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ฝสว. (21)ว. 558 /2548 เรื่อง การกำหนดสถานการณ์จำลองของ ธปท. เพื่อการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) ตามแนวนโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาดของสถาบันการเงิน และการปรับปรุงแบบรายงานการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาด
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
1. เพื่อกำหนดสถานการณ์จำลองของทางการ ให้สถาบันการเงินที่ใช้แบบจำลองในการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาด จัดทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) สำหรับฐานะ ในบัญชีเพื่อการค้า พร้อมส่งรายงานที่เกี่ยวข้องโดยอ้างอิงหนังสือที่ ธปท.สนส.(21)ว. 2739/2456 เรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาดของสถาบันการเงินและแบบรายงานเกี่ยวข้อง ลงวันที่
30 ธันวาคม 2546
2. เพื่อให้สถาบันการเงินมีความเข้าใจและถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ในการคำนวณและการรายงานอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมด้านเครดิตและด้านตลาด และรายงานข้อมูลเพิ่มเติม
2. ขอบเขตการถือปฏิบัติ
หนังสือเวียนฉบับนี้ให้ใช้บังคับ ดังนี้
1. การกำหนดสถานการณ์จำลองของ ธปท. เพื่อการจัดทำ Stress Testing และแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง ใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่ใช้แบบจำลองในการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้าน
ตลาด แต่ไม่ใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่ใช้วิธีมาตรฐาน
2. การรายงานและการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมด้านเครดิตและด้าน
ตลาด ใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่ต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาด
3. เนื้อหา
สาระสำคัญของหนังสือเวียน แบ่งเป็น 2 เรื่อง ดังนี้
I. การกำหนดสถานการณ์จำลองของ ธปท. เพื่อการจัดทำ Stress Testing และแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง
ธปท. ได้กำหนดไว้ในหนังสือที่ ธปท.สนส.(21)ว. 2739/2456 เรื่อง นโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาดของสถาบันการเงินและแบบรายงานเกี่ยวข้อง ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ให้สถาบันการเงินที่ใช้แบบจำลองในการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาดจัดทำ Stress Testing ดังนี้
1) จัดทำและรายงานผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงของฐานะในบัญชีเพื่อการค้า (Actual Loss) สูงสุดตามลำดับไม่น้อยกว่า 5 วันในแต่ละไตรมาสเปรียบเทียบกับค่า Value at Risk (VaR) 1 วันของวันก่อนหน้า
2) จัดทำและรายงานผลการจัดทำ Stress Testing ภายใต้สถานการณ์จำลองที่ ธปท. กำหนด
3) จัดทำ Stress Testing โดยใช้สถานการณ์จำลองที่สถาบันการเงินพิจารณากำหนดขึ้นเองเพื่อประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
1. สถานการณ์จำลองที่ ธปท. กำหนดเพื่อการจัดทำ Stress Testing เพื่อให้สถาบันการเงินจัดทำ Stress Testing ภายใต้สถานการณ์จำลองที่ ธปท. กำหนดตามข้อ 2) ให้สถาบันการเงินใช้สถานการณ์จำลอง ดังนี้
1.1 ฐานะในบัญชีเพื่อการค้าที่มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในประเทศ (ไม่รวมฐานะ Option) ให้สถาบันการเงินจัดทำ Stress Testing โดยอ้างอิงสถานการณ์จำลองของเส้นอัตราผลตอบแทน ดังนี้
(i) การเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทนแบบ Non-Parallel Shift (Basis point shift จากเส้นอัตราผลตอบแทนเดิม)
1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 12 ปี 15 ปี
สถานการณ์จำลองที่ 1 70 70 80 140 140 140 140 130 130
สถานการณ์จำลองที่ 2 -50 -50 -80 -80 -80 -100 -100 -100 -80
(ii) การเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทนแบบ Parallel Shift (Basis point shift จากเส้นอัตราผลตอบแทนเดิม)
1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 12 ปี 15 ปี
สถานการณ์จำลองที่ 3 100 100 100 100 100 100 100 100 100
สถานการณ์จำลองที่ 4 -100 -100 -100 -100 -100 -100 -100 -100 -100
1.2 ฐานะที่อยู่ในบัญชีเพื่อการค้าที่มีความเสี่ยงด้านราคาตราสารทุนในประเทศ (ไม่รวมฐานะ
Option) ให้สถาบันการเงินจัดทำ Stress Testing โดยอ้างอิงอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารทุน ดังนี้
สถานการณ์จำลองที่ 1 2 3 4
การเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารทุน (ร้อยละ) 40 20 -20 -40
1.3 ฐานะที่อยู่ในบัญชีเพื่อการค้าที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับอัตราแลกเปลี่ยน
7 สกุลเงินหลัก (ไม่รวมฐานะ Option) ให้สถาบันการเงินจัดทำ Stress Testing โดยอ้างอิงอัตราการ
เปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนี้
สถานการณ์จำลองที่ 1 2 3 4
การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน(ร้อยละ) 25 15 -10 -20
โดยให้สถาบันการเงินพิจารณาจัดทำ Stress Testing เฉพาะสกุลเงินที่มีนัยสำคัญต่อฐานะของ
สถาบันการเงินฐานะอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีเพื่อการค้าที่มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ด้านราคาตราสารทุนต่างประเทศ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนอกเหนือจาก 7 สกุลเงินหลัก และฐานะ Option ให้สถาบันการเงินพิจารณาถึงความมีนัยสำคัญของฐานะเหล่านั้นและจัดทำ Stress Testing ภายใต้สถานการณ์จำลองที่สถาบันการเงินกำหนดขึ้นเองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง
ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงด้านตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานการณ์จำลองที่ ธปท. กำหนด โดย ธปท. จะมีหนังสือแจ้งสถาบันการเงินล่วงหน้าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จำลองที่ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินใช้ในการจัดทำ Stress Testing
2. การจัดทำข้อมูลและแบบรายงานที่เกี่ยวกับการจัดทำ Stress Testing
สถาบันการเงินต้องรายงานผลการจัดทำ Stress Testing ทั้ง 1) สรุปผลขาดทุนต่อวันสูงสุดที่
เกิดขึ้นจริงและ 2) ผลกำไร/ขาดทุนตามสถานการณ์จำลองของ ธปท. ตามรูปแบบและวิธีการจัดส่งข้อมูลที่ธปท. กำหนด โดยสถาบันการเงินจะต้องเก็บเอกสารประกอบการจัดทำไว้เพื่อผู้ตรวจสอบของ ธปท. สามารถตรวจสอบได้
II. การรายงานและการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
1. สถาบันการเงินยังคงต้องถือปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์และภาระผูกพันของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
2. กำหนดให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลเพิ่มเติม คือยอดรวมสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตของฐานะในบัญชีเพื่อการค้า1 ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์การคำนวณความเสี่ยงด้านเครดิตตามข้อ 1. มาพร้อมกับแบบรายงานการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาดที่ปัจจุบันกำหนดให้จัดส่งในรูป Excel File เพื่อใช้ในการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมด้านเครดิตและด้านตลาด
1 เฉพาะฐานะที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องคำนวณความเสี่ยงด้านเครดิตอีก ตามหนังสือเวียนที่ ธปท.สนส.(21)ว. 2739/2546 เรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาดของสถาบันการเงินและแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง
3. การคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมด้านเครดิตและด้านตลาด คำนวณจากเงินกองทุนของสถาบันการเงินหารด้วยผลรวมของ (ก) สินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตหักด้วยสินทรัพย์เสี่ยงส่วนที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 2. บวกกับ (ข) ผลคูณของ 12.5 กับเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาดที่สถาบันการเงินคำนวณได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด
4. วันที่มีผลบังคับใช้
ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามหนังสือเวียนฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกริก วณิกกุล)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน

แท็ก ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ