วันที่มีผลบังคับใช้ - วันที่สิ้นสุดผลบังคับใช้ - สถาบันผู้เกี่ยวข้อง 1.ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 2.ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ 3.บ.ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 4.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 5.บริษัทเงินทุน 6.บริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ 7.ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต 8.สถาบันการเงินเฉพาะกิจ วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล
-
สาระสำคัญ
ธปท. ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (Revolving & Installment Loan) : เน้นการบรรเทาภาระหนี้โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และลดค่างวด โดยคิดอัตราดอกเบี้ยลดลง
2. สินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นประกัน : เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้สินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ประกอบธุรกิจสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
3. เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ : กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ประกอบธุรกิจสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน : เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีช่องทางเพื่อให้ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ (opt-in) ได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย