แนวปฏิบัติในการกันเงินสำรองสำหรับรายการนอกงบดุล

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday December 23, 2005 14:42 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        23 ธันวาคม 2548
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร*
บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ธปท.ฝนส.(21)ว.2395/2548 เรื่อง แนวปฏิบัติในการกันเงินสำรองสำหรับรายการนอกงบดุล
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เนื่องจากสถาบันากรเงินมีการก่อภาระผูกพันซึ่งเป็นรายการนอกงบดุลในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับสภาวิชาชีพบัญชีของประเทศไทยฉบับที่ 53 เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น โดยกำหนดให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินหลังวันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จึงเห็นควรให้สถาบันการเงินมีการกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นและเพื่ให้สอดคล้องกับมารฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว
2. ขอบเขตการบังคับใช้
หนังสือเวียนฉบับนี้ใช้บังคับกับ
2.1 ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจของสาขาธนาคารต่างประเทศ
2.2 บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซีเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
3. เนื้อหา
3.1 รายการนอกงบดุลที่สถาบันการเงินพึงกันเงินสำรอง
สถาบันการเงินพึงกันเงินสำรองสำหรับภาระผู้กันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่เข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้
3.1.1 ภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลของลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญและสูญ ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ที่กำหนดไว้ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของธนาคารพาณิชย์ และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2547 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม
3.1.2 ภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับสูง เช่น การค้ำประกันการกู้ยืม การอาวัล หรือภาระผูกพันที่สถาบันการเงินไม่สามารถยกเลิกได้ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดค่าแปลงสภาพ (Credit Conversion Factor) ในการคำนวณเงินกองทุนที่ต้องการดำรงเท่ากับ 1.0 (ตัวอย่างปรากฏเอกสารแนบ)
3.2 อัตราส่วนในการกับเงินสำรอง
ให้สถาบันการเงินกับเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่เข้าเงื่อนไขข้างต้นในอัตราเดียวกันกับอัตราการกันเงินสำรองของลูกหนี้รายเดียวกันที่ปรากฏในงบดุล กรณีที่ลูกหนี้รายดังกล่าวมีหนี้หลายประเภทและหนี้แต่ละประเภทมีอัตราการกันเงินสำรองแตกต่างกัน ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลโดยใช้อัตราเดียวกันกับการกันเงินสำรองสูงสุดของลูกหนี้รายนั้น เว้นแต่สถาบันการเงินสามารถแบ่งแยกที่มาขอการชำระเงินของรายการภาระผูกพันนั้นได้ว่าเกี่ยวข้องกับหนี้บัญชีใดของลูกหนี้ ก็ให้สามารถกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันในอัตราเดียวกันกับอัตราการกันเงินสำรองของหนี้บัญชีนั้นได้
3.3 การรายงานข้อมูล
ในเบื้องต้นที่ ธปท. ยังไม่มีการปรับรายการของตารางรหัส (Classification) ที่ใช้ประกอบการจัดทำชุดข้อมูล (Data Set) ให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกักเงินสำรองดังกล่าวไว้ในรายการค่าใช้จ่ายอื่นๆ (CI_Profit and Loss Item : Code 920093) และหนี้สินอื่นๆ (IC_Balance Sheet Item: Code 950174) และหากต่อมา ธปท. ได้ปรับรายการของตารางรหัส (classification) ที่ใช้ประกอบการจัดทำชุดข้อมูล (Data Set) โดยเพิ่มรหัสบัญชีกล่าวข้างต้นแล้วให้สถาบันการเงินรายงานตามรหัสบัญชีที่ ธปท. ได้กำหนดขึ้นต่อไป และให้จัดเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวกับการกันเงินสำรองดังกล่าวไว้ที่สถาบันการเงินเองเพื่อให้ ธปท. สามารถตรวจสอบได้
4. วันเริ่มต้นบังคับใช้
หนังสือเวียนฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่งวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2548 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย : เอกสารแนบ
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร. 0-2283-5304, 0-2283-5303
หมายเหตุ [
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่........ ณ.................
[X
] ไม่มีการจัดแประชุมชี้แจง
เอกสารแนบ
ตัวอย่างภาระผูกพันที่มีค่าแปลงสภาพ (Credit Conversion Factor) เท่ากับ 1.0
(1) การรับอาวัลตั๋วเงิน ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน และค้ำประกันการขาย ขายลด หรือขายช่วงลดตั๋วเงิน
(2) การสลักหลังตั๋วเงินแบบผู้รับสลักหลังมีสิทธิ์ไล่เบี้ย (With Recourse)
(3) สัญญาการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งสถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามโดยปราศจากเงื่อนไข
(4) การค้ำประกัน การรับประกัน หรือการก่อภาระผูกพันในรูปแบบใดๆ ของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากการขายสินทรัพย์
(5) ภาระผูกพันตามสัญญาขายตราสาร โดยมีเงื่อนไขจะซื้อคืนตามวิธีการคำนวณที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(6) ภาระผูกพันตามสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending) ตามวิธีการคำนวณที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(7) ภาระผูกพันตามสัญญาหรือข้อตกลงการรับประกันความเสี่ยง ซึ่งได้แก่ สัญญาที่สถาบันการเงินรับโอนความเสี่ยงด้านเครดิตหรือตกลงรับประกันคามเสี่ยงด้านเครดิตจากคู่สัญญา โดยตกลงจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง หรือรับความเสียหายเนื่องจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับคืนเงินให้สินเชื่อหรือเงินลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือมีเหตุการณ์เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา (Credit Event) เกิดขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ