หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday August 3, 2005 18:54 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                               3 สิงหาคม 2548
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
ที่ ฝสว.(21) ว.64/2548 เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 122 ตอนพิเศษ 55 ง ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 แล้ว จึงขอนำส่งประกาศแบบดังกล่าวมาเพื่อปฏิบัติ
สาระสำคัญของฉบับนี้คือ
1.ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะปิดสาขาหรือสาขาย่อยที่ตั้งอยู่ในอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่มีสาขาหรือบริการทางการเงินของสถาบันการเงินอื่นเปิดให้บริการอยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้โดยยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. พร้อมเสนอแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อย ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนวันปิดทำการหากไม่ได้รับการทักท้วงจาก ปทธ. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ธปท. ได้รับคำขอและเอกสารประกอบการพิจารณาครบถ้วน ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยนั้นได้
2.ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะปิดสาขาหรือสาขาย่อยแห่งสุดท้ายในอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่ไม่มีสาขาหรือบริการทางการเงินของสถาบันการเงินอื่นเปิดให้บริการอยู่ ให้ยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. พร้อมเสนอแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อย และช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทน ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า90วันก่อนวันปิดทำการ หากไม่ได้รับการทักท้วงจาก ธปท.ภายใน30วัน นับวันที่ ธปท.ได้รับคำขอและเอกสารประกอบการพิจารณาครบถ้วน ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยนั้นได้
3.แผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยจะต้องระบุรายละเอียดประกอบการพิจารณาซึ่งรวมถึง วันปิดทำการ เหตุผลการขออนุญาตปิด แผนที่แสดงที่ตั้งสถาบันการเงินที่เหลือในอำเภอหรือกิ่งอำเภอนั้น แผนการดำเนินการโอนบัญชีเงินให้สินเชื่อ และบัญชีเงินฝากไปยังสาขาที่ใกล้เคียงที่สุดหรือสาขาอื่นที่ลูกค้าเลือก และชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก แนวทางชี้แจงและทำความเข้าใจกับลูกค้าและประชาชนในพื้นที่ และในกรณีการปิดสาขาหรือสาขาย่อยแห่งสุดท้ายต้องแนบแผนงานรวมทั้งรูปแบบและแนวทางการจัดให้มีบริการทางการเงินทดแทนที่แสดงว่าลูกค้าปัจจุบันและประชาชนในพื้นที่จะได้รับบริการพื้นฐานตามสมควร
4.ในการปิดสาขาและสาขาย่อย ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการดูแลลูกค้าให้ได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะต้องดำเนินการโอนบัญชีเงินให้สินเชื่อ บัญชีเงินฝากและชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก ทั้งในกรณีที่ผู้ฝากถอนเงินฝากโดยไม่ได้ฝากต่อ และกรณีที่ผู้ฝากโอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่น โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งหลักเกณฑ์การชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝากให้ลูกค้าทราบโดยละเอียด (ตัวอย่างการคำนวณตามแนบ)
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและ
สาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
2.ตัวอย่างการคำนวณการจ่ายชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก ประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร.0-2283-6827 และ 0-2283-6855
หมายเหตุ [
]ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดประชุมชี้แจงในวันที่..........ณ...............
[x
]ไม่มีการประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
________________________
1.เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพระบบสถาบันการเงินให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(Financial Sector Master Plan) ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจและความคุ้มทุนของพื้นที่นั้นได้ เพื่อเป็นการลดภาระและต้นทุนในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการในเรื่องรูปแบบและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการลูกค้าของธนาคารพาณิชย์อีกด้วย อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสาขาและสาขาย่อยเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการได้
อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการธนาคารพาณิชย์ขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ผ่านช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทนต่างๆเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคงามเจริญในภูมิภาคอย่างทั่วถึง
2.อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 วรรณหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และแก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ ตามที่กำหนดในประกาศแบบนี้
3.ขอบเขตการใช้บังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
4.เนื้อหา
4.1ให้ยกเลิกหนังสือเวียนดังต่อไปนี้
4.1.1หนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว.360/2543 เรื่อง ปรับปรุงเกณฑ์การยื่นขอปิดสาขาย่อยและการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543
4.1.2หนังสือที่ ธปท.สนส.(31)ว.287/2545 เรื่อง การจ่ายชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝากอันเนื่องมาจากการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545
4.2หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
หนังสือเวียนที่ ธปท.สนส.(31)ว.2435/2546 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การแต่งตั้งตัวแทนรับฝากและถอนเงินของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546
4.3 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
4.3.1 การปิดสาขาหรือสาขาย่อยกรณีทั่วไป
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะปิดสาขาหรือสาขาย่อยที่ตั้งอยู่ในอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่มีบริการทางการเงินอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ดังต่อไปนี้
(1) สาขาหรือสาขาย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธนาคารพาณิชย์อื่น
(2) บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์อื่นที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนการตัดสินใจไม่เปิดสาขาหรือสาขาย่อยที่เคยขอเปิดไว้และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ตามนัยหนังสือเวียนที่ ธปท.ฝสว.(21) ว.552/2548 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2548
(3) บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์อื่นทดแทนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยที่ได้รับอนุญาตตามนัยประกาศฉบับนี้
ให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมเสนอแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนวันปิดทำการ หากไม่ได้รับการทักท้วงจากธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 30 วันนับจากวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขอและเอกสารประกอบการพิจารณาครบถ้วน ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยนั้นได้
4.3.2 การปิดสาขาหรือสาขาย่อยแห่งสุดท้าย
(1) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะปิดสาขาหรือสาขาย่อยแห่งสุดท้ายในอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่ไม่มีบริการทางการเงินตามข้อ4.3.1(1)ถึง(3) ให้ยื่นขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมเสนอแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยและช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทน ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนวันปิดทำการ หากไม่ได้รับการทักท้วงจากธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 30 วัน นับจากวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขอและเอกสารประกอบการพิจารณาครบถ้วน ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามแผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อยนั้นได้
(2)ช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทนจะต้องทีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
(2.1)ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปโดยครอบคลุมพื้นที่ที่มีการปิดสาขาหรือสาขาย่อยดังกล่าวเป็นอย่างน้อย
(2.2)ให้บริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การรับฝากเงิน ถอนเงิน และโอนเงิน และ
(2.3)เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างน้อยสัปดาห์ละ2วัน โดยระบุเวลาให้บริการที่แน่นอน และเพียงพอต่อการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ
ทั้งนี้ รูปแบบช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทนที่สามารถกระทำได้ เช่น การแต่งตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นตัวแทนรับฝากและถอนเงิน การติดตั้งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการฝากและถอนเงิน การเปิดบริการรถเคลื่อนที่หรือเคาเตอร์บริการนอกสถานที่ หรือการมีธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นแต่งตั้ง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นตัวแทนรับฝากและถอนเงินให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว (ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะปิดสาขาหรือสาขาย่อยต้องมีหนังสือยืนยันจากธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นนั้นว่า การยกเลิกการแต่งตั้งบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นตัวแทนผู้ให้บริการ จะต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน) เป็นต้น
4.3.3 แผนการปิดสาขาหรือสาขาย่อย อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) วันปิดทำการ
(2) เหตุผลการขออนุญาตปิด ซึ่งหากเป็นกรณีขาดทุนจากการดำเนินการ ให้ธนาคารพาณิชย์แสดงงบกำไรขาดทุนของสาขาหรือสาขาย่อยนั้นล่าสุดย้อนหลัง 3 ปี
(3) แผนที่แสดงที่ตั้งสถาบันการเงินที่เหลือในอำเภอ/กิ่งอำเภอนั้น พร้อมระยะทางระหว่างสาขาหรือสาขาย่อยที่ขออนุญาตปิดกับสถาบันการเงินที่เหลืออยู่
(4) แผนการดำเนินการโอนบัญชีเงินให้สินเชื่อ และบัญชีเงินฝากไปยังสาขาที่ใกล้เคียงที่สุด หรือสาขาสาขาอื่นที่ลูกค้าเลือก และชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก ซึ่งในการดำเนินการต่อไปย่อมตกอยู่ในบังคับข้อ 4.3.4.(1)
(5) แนวทางการชี้แจงและทำความเข้าใจกับลูกค้าและประชาชนในพื้นที่
(6) ข้อมูลอื่นๆตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะร้องขอ
ในกรณีจะปิดสาขาหรือสาขาย่อยแห่งสุดท้าย แผนจะต้องมีช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทนจึงต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างน้อย ดังนี้
(7) รูปแบบช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทน ระยะเวลาการให้บริการ และประเภทบริการทางการเงิน
(8) วันเริ่มดำเนินการช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทน
(9) จำนวนพนักงานที่ให้บริการ
(10) เงินลงทุนที่เกี่ยวข้อง
(11) การควบคุมภายในที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงบัญชี การควบคุมเงินสดและเอกสารสำคัญอื่น ๆ การรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน สาขาที่รับผิดชอบดูแล วิธีการนำข้อมูลเข้าระบบ หลักฐานการทำธุรกรรมที่ออกให้ประชาชน เป็นต้น
4.3.4 การดูแลลูกค้าในการปิดสาขาและสาขาย่อย
(1) ไม่ว่ากรณีใด ๆ ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการโอนบัญชีเงินให้สินเชื่อ บัญชีเงินฝากและชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก ดังนี้
(1.1) กรณีลูกค้าเงินให้สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ที่ปิดสาขาต้องดำเนินการโอนลูกหนี้ให้ไปรับบริการจากสาขาที่ใกล้ที่สุดหรือสาขาอื่นที่ลูกค้าเลือกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการนี้
(1.2) กรณีลูกค้าเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หากลูกค้าต้องการโอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่นซึ่งลูกค้าเป็นผู้เลือก ธนาคารพาณิชย์ที่ปิดสาขาหรือสาขาย่อยต้องดำเนินการให้เป็น ไปตามความประสงค์ของลูกค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการนี้
(1.3) ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากตามระยะเวลาที่ฝากจริงและชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา เมื่อการปิดสาขาหรือสาขาย่อยเป็นเหตุให้ลูกค้าต้องถอนเงิน หรือ โอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่นก่อนครบกำหนด โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
(ก) กรณีที่ผู้ฝากถอนเงินฝากโดยไม่ได้ฝากต่อ ให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ลูกค้าตามระยะเวลาที่ฝากจริง และหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเดียวกันของธนาคารพาณิชย์ที่ใกล้ที่สุดมีอัตราต่ำกว่าอัตราที่ควรจะได้หากฝากต่อจนครบกำหนด ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปิดสาขาหรือสาขาย่อยชดเชยดอกเบี้ยที่ขาดให้แก่ลูกค้าเสมือนนึ่งลูกค้าฝากเงินจนครบกำหนด
(ข) กรณีที่ผู้ฝากโอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ให้ธนาคารพาณิชย์
จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ลูกค้าตามระยะเวลาที่ฝากจริง และหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเดียวกันของธนาคารพาณิชย์อื่นที่ลูกค้านำเงินไปฝากต่อมีอัตราต่ำกว่าอัตราที่ควรจะได้หากฝากต่อจนครบกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปิดสาขาหรือสาขาย่อยชดเชยดอกเบี้ยที่ขาดให้แก่ลูกค้าเสมือนหนึ่งลูกค้าฝากเงินจนครบกำหนด
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งหลังเกณฑ์การชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝากให้ลูกค้า
ทราบโดยละเอียด
(2) ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งวันปิดทำการ และวันเริ่มดำเนินการช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทน (แล้วแต่กรณี)ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ลูกค้า และประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
(3) โดยที่การปิดสาขาหรือสาขาย่อยจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงได้ ธนาคารพาณิชย์จึงควรส่งผ่านผลประโยชน์บางส่วนให้กับลูกค้า หรือประชาชนในพื้นที่ด้วย เช่น ช่วยเหลือการพัฒนาหรือเงินทุนสนับสนุนองค์กรการเงินชุมชน เป็นต้น
(4) ธนาคารพาณิชย์ต้องให้บริการผ่านช่องทางการให้บริการทางการเงินทดแทนตามที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย การหยุดหรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินการจะต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน แต่หากการหยุดหรือเปลี่ยนแปลงการให้บริการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุฉุกเฉินหรือเหตุสุดวิสัย ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินการได้ โดยต้องไม่หยุดทำการเกิน 2 สัปดาห์ และติดประกาศให้ลูกค้าและประชาชนทราบ ณ ที่เปิดให้บริการโดยไม่ชักช้าพร้อมแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทันที
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2548
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตัวอย่างการคำนวณการจ่ายชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก
ประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา
1. กรณีที่ผู้ฝากถอนเงินฝากโดยไม่ได้ฝากต่อที่ใด ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์อื่นที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับเงินฝากประจำเดิมในการคำนวณ
ตัวอย่าง
เงินฝากประจำ 3 เดือน จำนวน 10,000 บาท ฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เมื่อฝากมาได้ 1 เดือน มีการปิดสาขา จึงต้องถอนเงิน และไม่ฝากต่อที่ใด ขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ที่ใกล้ที่สุด คือ ร้อยละ 2 ต่อปี ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องจ่ายเงินให้ลูกค้า 10,066.66 บาท ซึ่งประกอบด้วย
1) เงินต้นจำนวน 10,000 บาท
2) ดอกเบี้ยเงินฝากตามระยะเวลาที่ฝากจริง (10,000 x 4% x 1/12) = 33.33 บาท
3) จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเสมือนหนึ่งฝากจนครบกำหนด (10,000 x (4%-2%) x 2/12) = 33.33 บาท
2. กรณีที่ผู้ฝากโอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ไม่ว่าประเภทประจำหรือออมทรัพย์ ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ใหม่ ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับเงินฝากประจำเดิมในการคำนวณ
ตัวอย่าง
เงินฝากประจำ 3 เดือน จำนวน 10,000 บาท ฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เมื่อฝากมาได้ 1 เดือน มีการปิดสาขา จึงโอนเงินไปฝากที่ธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ใหม่ในขณะนั้น คือ ร้อยละ 3 ต่อปี ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องโอนเงินไปธนาคารพาณิชย์ใหม่เป็นจำนวน 10,050 บาท ซึ่งประกอบด้วย
1) เงินต้นจำนวน 10,000 บาท
2) ดอกเบี้ยเงินฝากตามระยะเวลาที่ฝากจริง (10,000 x 4% x 1/12) = 33.33 บาท
3) จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเสมือนหนึ่งฝากจนครบกำหนด (10,000 x (4% - 3%) x 2/12) = 16.67 บาท
ทั้งนี้ กรณีที่เป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และลูกค้าเงินฝากได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากใหม่ที่สูงขึ้นหรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทเดียวกันของธนาคารพาณิชย์อื่นที่ใกล้ที่สุดสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิมจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องจ่าย คือ เงินต้น และดอกเบี้ยเงินฝากตามระยะเวลาที่ฝากจริงก่อนโอนเงินฝากไปยังธนาคารพาณิชย์อื่น (หรือวันปิดสาขาแล้วแต่กรณี)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ