แนวทางการพิจารณาจุดตัดระหว่างประชาชนตัดระหว่างประชาชน รายย่อยกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อย ที่ถือว่ามีหลักประกัน สำหรับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday November 30, 2005 14:15 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                       30 พฤศจิกายน 2548 
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ฝกส.(12)ว.2235/2548 เรื่อง แนวทางการพิจารณาจุดตัดระหว่างประชาชน รายย่อยกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อย ที่ถือว่ามีหลักประกัน สำหรับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย
1.เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อประโยชน์แก่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่จะปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 23 มกราคม 2547 (ประกาศกระทรวงการคลังฯ)ได้ทราบแนวทางเพื่อปฏิบัติในการพิจารณาจุดตัดระหว่างประชาชนรายย่อยกับรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)และสินเชื่อแก่ประชาชนที่ถือว่ามีหลักประกัน ซึ่งตามเงื่อนไขข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลังฯกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยให้บริการได้เฉพาะประชาชนรายย่อยและ SMEs ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (ประกาศธนาคารแห่ง
ประเทศไทย เรื่อง คำจำกัดความ "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" ลงวันที่ 30 เมษายน 2547)และจำกัดวงเงินการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้แต่ละราย กล่าวคือ ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยได้ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 0.05 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในกรณีที่ไม่มีหลักประกัน และไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินลงทุนชั้นที่ 1 ในกรณีที่มีหลักประกัน รวมทั้งใช้สินเชื่อแก่ SMEs ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1
2.ขอบเขตการถือปฏิบัติ
ให้ถือปฏิบัติกับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยทุกธนาคาร
3.เนื้อหา
แนวทางพิจารณาจุดตัดระหว่างประชาชนรายย่อยกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยที่ถือว่ามีหลักประกัน สำหรับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย มีดังนี้
3.1 จุดตัดระหว่างประชาชนรายย่อยกับ SMEs ให้พิจารณาตามแนวทางต่อไปนี้
3.1.1 วัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเพื่อนำไปประกอบธุรกิจหรือใช้จ่ายส่วนบุคคลหากเป็นการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ ให้ถือว่าเป็นการให้กู้ยืมแก่ SMEs และ
3.1.2 หลักแหล่งในการทำธุรกิจของผู้กู้ ถ้าไม่มีหลักแหล่ง เช่น ธุรกิจโดยใช้รถเข็น เช่นนี้ ประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันถือว่าเป็นการให้กู้ยืมแก่ประชาชนรายย่อย แต่ถ้ามีหลักแหล่งในประกอบธุรกิจ เช่น แผงลอย จะถือเป็น SMEs
3.2 สินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยที่มีหลักประกัน หมายถึง สินเชื่อแก่ประชาชน รายย่อยที่มีสินทรัพย์ หรือการค้ำประกันดังต่อไปนี้ เป็นประกันเต็มจำนวน โดยธนาคารพาณิชย์ เพื่อรายย่อยสามารถประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ที่เป็นหลักประกันได้อย่างน่าเชื่อถือและสามารถยึดหรือบังคับหลักประกันดังกล่าวได้ตามกฎหมายกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ หรือ เป็นการค้ำประกันโดยผู้ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือและธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยสามารถไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกันได้ตามกฎหมาย กรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้
3.2.1 เงินสดหรือสิทธิในเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยนั้น
3.2.2 หลักประกันที่ใกล้เคียงเงินสด ได้แก่ หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด
3.2.3 หลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย หรือนอกศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
3.2.4 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
3.2.5 สินค้า
3.2.6 เครื่องจักร
3.2.7 สิทธิการเช่า เฉพาะในกรณีที่ผู้ให้เช่ายินยอมให้มีการสวมสิทธิแทนเมื่อผู้เช่าเดิมซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยไม่ชำระหนี้ ซึ่งไม่รวมถึง การเช่าช่วงสิทธิการเช่า 3.2.8 รถจักรยานยนต์ รวมถึงการให้สินเชื่อประเภทการให้เช่าซื้อหรือการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถจักรยานยนต์ ซึ่งกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์เป็นของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้ให้เช่าแบบลีสซิ่ง
3.2.9 รถยนต์ รวมถึงการให้สินเชื่อประเภทการให้เช่าซื้อหรือการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์ ซึ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้ให้เช่าแบบลีสซิ่ง
3.2.10 ทรัพย์สินทางปัญญา เฉพาะในกรณีที่มีราคาประเมินที่ยอมรับได้ มีกฎหมายรองรับสิทธิของเจ้าของและสามารถบังคับได้จริงหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
3.2.11 การค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชำระหนี้ให้ หรือมีหลักฐานว่าจะได้รับชำระเงินจากหน่วยงานราชการใดอย่างแน่นอน
3.2.12 การค้ำประกันโดยสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และนิติบุคคลอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
3.2.13 สินทรัพย์หรือการค้ำประกันประเภทอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อใหม่หรือปรับเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อเดิมธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยควรทำการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันทุกครั้ง ตามข้อ 3.7.2 ของหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในหนังสือเวียนที่ ธปท.ฝสว.(21)ว.797/2548 เรื่อง หลักเณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงิน ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกริก วณิชกุล)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
โทร. 0-2283-6826, 0-2283-6298, 0-2356-7467
หมายเหตุ [
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่.............
[X
] ไม่มีการประชุมชี้แจง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ