หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday April 3, 2006 10:15 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            3 เมษายน 2549 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ
ที่ ธปท.ฝนส.(21)ว.480/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีหนังสือที่ ธปท.สนส.(21) ว.2942/2545 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2545 เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดวิธีการเบื้องต้นที่สถาบันการเงินพึงปฏิบัติในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นั้น
ธปท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับดังกล่าวเพื่อลดภาระของสถาบันการเงิน ในกรณีที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้น ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 75 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงในประเด็นวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ธปท. จึงแจ้งยกเลิกหนังสือที่ ธปท.สนส.(21)ว.2942/2545 ที่อ้างถึงข้างต้น และให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับใหม่ที่แนบมาพร้อมนี้
1.เพิ่มเติมข้อความในวรรคสองข้อ 3.5 การกำหนดหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ที่สถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยไม่ต้องกำหนดให้มีสถาบันการเงินอื่นหรือบุคคลที่สาม ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานะ และความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดของลูกหนี้ก็ได้
2.ปรับปรุงข้อความในข้อ 5 วิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ชัดเจนขึ้น
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร.0-2283-5304, 0-2283-5303
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่......ณ............
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
1.วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเป็นการดำเนินการแก้ไขหนี้ทั่วไปและหนี้ที่มีปัญหาเพื่อให้สถาบันการเงินมีโอกาสได้รับชำระหนี้คืนสูงสุด หรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินกิจการต่อไปทั้งของลูกกหนี้และสถาบันการเงิน โดยเฉพาะลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาการชำระหนี้เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องระมัดระวังมิให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการจัดชั้นลูกหนี้และการกันเงินสำรอง หรือหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การระงับรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้
2.ประเภทของ"การปรับปรุงโครงสร้างหนี้"
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หมายถึง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วไป และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา
2.1 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วไป หมายถึง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่มีส่วนสูญเสีย เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ตามภาวะตลาด หรือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าหรือการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป โดยมีการตกลงให้มีระยะเวลาปลอดหนี้โดยลูกหนี้ยังคงจ่ายชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม และสถาบันการเงินวิเคราะห์แล้วคาดว่าจะได้รับชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบถ้วนตามสัญญาการให้กู้ยืม
2.2 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา หมายถึง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีส่วนสูญเสียเนื่องจาก
(1) มีการลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกเป็นรายได้แล้วให้ลูกหนี้ หรือ
(2) มีผลขาดทุนจากการรับโอนทรัพย์สินที่มีมูลค่าราคายุติธรรมต่ำกว่ายอดหนี้ ที่ตัดจำหน่ายไป หรือ
(3) มีการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ซึ่งทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับต่ำกว่ามูลหนี้ของลูกหนี้ตามบัญชีของลูกหนี้รวมยอดดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกเป็นรายได้แล้ว หรือ
(4) มีส่วนสูญเสียจากการคำนวณโดยใช้ มูลค่ายุติธรรมของหนี้ หรือการใช้มูลค่ายุติธรรมของหลักประกัน หรือมีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อันเนื่องมาจากเหตุผลอื่น เช่น การแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น
3.การกำหนดนโยบายและมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการ ดังนี้
3.1 นโยบายและมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสถาบันการเงิน โดยผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการดังกล่าว
3.2 นโยบายและมาตรการที่จะกำหนดจะต้องครอบคลุมแนวทางในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การติดตามดูแล การรายงานผลการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายทางด้านบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3.3 สถาบันการเงินจะต้องกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การอนุมัติ การรายงาน และการติดตามดูแลที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนการปฏิบัติงาน(Action Plan) ในขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์
3.4 สถาบันการเงินจะต้องจัดตั้งหน่วยงานหรือกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นอิสระจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ดูแลลูกหนี้รายนั้น เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติงานตามกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่กำหนดในข้อ 3.3 หรืออาจให้สถาบันการเงินอื่น หรือบุคคลที่สามที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นผู้ทำหน้าที่นั้นก็ได้ ยกเว้นในกรณีที่สถาบันการเงินมีบุคคลกรจำกัด อนุโลมให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อทำหน้าที่ตามกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ แต่ต้องทำตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ ในข้อ 3.3 โดยเคร่งครัด
3.5 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่สถาบันการเงิน หรือกรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินนั้นมีผลประโยชน์ เกี่ยวข้องหรือกับลูกหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน จะต้องกำหนดให้สถาบันการเงินอื่น หรือบุคคลที่สามซึ่งไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบันการเงินและลูกหนี้ เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดของลูกหนี้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินอื่น หรือบุคคลที่สามจะต้องเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะ ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินหรือการดำเนินงาน หรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือธุรกิจการให้คำปรึกษาทางการเงิน หรือเป็นบริษทที่ปรึกษาทางการเงินที่มีชื่อเสียง มีความชำนาญ มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ
ในกรณีสถาบันการเงินเข้าไปมีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เนื่องจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากที่หลักเกณฑ์นี้มีผลบังคับใช้ หรือในกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายไปแล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น สถาบันการเงินไม่ต้องกำหนดให้มีสถาบันการเงินอื่นหรือบุคคลที่สาม เป็นผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดของลูกหนี้ก็ได้
ทั้งนี้ ความหมายของลูกหนี้ที่สถาบันการเงิน หรือกรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและความหมายของลูกหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่อแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้น
4.ขั้นตอนการปฏิบัติงานและการจัดทำเอกสารประกอบ
ในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
4.1 ขั้นตอนการวิเคราะห์และการจัดทำเอกสารเมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ควรมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ลูกหนี้และเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
(1) สาเหตุที่หนี้สินมีปัญหาและเหตุผลที่มีการจ่ายชำระดอกเบี้ย และ/หรือต้นเงินล่าช้ากว่ากำหนด
(2) ความรุนแรงของปัญหา และความเสี่ยงทางด้านการเงินของลูกหนี้ โดยพิจารณาจากงบการเงิน งบกระแสเงินสด และการประมาณการทางการเงิน แล้วแต่ละกรณี รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ทางการตลาด ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับฐานะและการดำเนินงานของลูกหนี้
(3) การคาดการณ์เกี่ยวกับการรับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในกรณีที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และกรณีที่ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(4) การประเมินคุณภาพการบริหารของลูกหนี้ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพขององค์กร ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร การจัดระบบการบริหารใหม่ เป็นต้น
(5) ความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(6) การประเมินมูลค่าหลักประกัน(ถ้ามี) ตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(7) แนวคิดหรือสมมติฐานเกี่ยวกับการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งควรตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลและความเป็นไปได้
ทั้งนี้ ในการประมาณการกระแสเงินสดข้างต้น ไม่ให้สถาบันการเงินนำกระแสเงินสดที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับ ได้แก่ เงินต้นหรือสิทธิในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หากกิจการของลูกหนี้ฟื้นตัวขึ้น หรือสิทธิในการแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น มารวมในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด
(8) การพิจารณา ข้อสรุป และการอนุมัติเกี่ยวกับเงื่อนไขผ่อนปรนที่ควรให้ ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดต้นเงิน การลดดอกเบี้ยลูกหนี้ค้างชำระและการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับอายุโครงการของลูกหนี้(Economic Life) หรือระยะเวลาในการให้บริการของโครงการลูกหนี้ รวมทั้งสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และช่วยทำให้ฐานะการเงินของลูกหนี้ดีขึ้น จนมีความสามารถจ่ายชำระหนี้คืนภายใต้เงื่อนไขที่มีการปรับปรุงใหม่ได้ตลอดไป
(9) จัดทำตารางแสดงการชำระหนี้คืนหลังการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้
(10) รายละเอียดเงื่อนไขทางการเงินต่างๆ เช่น การห้ามจ่ายเงินปันผล การลดทุน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับภาระในส่วนนี้ก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การให้เพิ่มทุน การสงวนสิทธิ สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น
(11) การจัดทำเอกสารหลักฐานและสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ครบถ้วนและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(12) กรณีมีการให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สถาบันการเงินจะต้องระบุวัตถุประสงค์ของการใช้เม็ดเงินใหม่อย่างชัดเจน ซึงจะต้องไม่ใช่การนำเม็ดเงินใหม่ที่กู้เพิ่มมาใช้เพื่อชำระหนี้เดิม
4.2 ขั้นตอนการติดตามผลหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
จะต้องจัดให้มีระบบการติดตามลูกหนี้ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาใหม่ได้ เช่น
(1) กำหนดให้มีการทำรายงานความคืบหน้าเสนอผู้บริหาร โดยรายงานนี้จะต้องแสดงถึงพัฒนาการล่าสุด แผนการปฏิบัติงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะได้รับชำระหนี้คืนในที่สุด
(2) กำหนดให้ลูกหนี้จัดส่งงบการเงิน รวมทั้งกำหนดให้ลูกหนี้ต้องรายงานผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินต่างๆ เช่น การห้ามจ่ายเงินปันผล การลดทุน การเพิ่มทุน เป็นต้น
(3) กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ตามสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
5.วิธีการปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
วิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติ ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่เกี่ยวข้องที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547
6.การคำนวณส่วนสูญเสียในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ในการคำนวณส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
6.1 ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาโดยยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไข การชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ให้สถาบันการเงินบันทึกส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการคำนวณราคาตามบัญชีใหม่ของลูกหนี้คงค้าง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 34 เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา โดยอาจใช้มูลค่าใดมูลค่าหนึ่งดังต่อไปนี้
ก) มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตตามเงื่อนไขใหม่ในการชำระหนี้ที่เป็นผลมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยใช้อัตราคิดลดตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับข้างต้น
ข) มูลค่ายุติธรรมของหนี้
ค) มูลค่ายุติธรรมของหลักประกัน หากการชำระหนี้ของหนี้ที่ปรับโครงสร้างขึ้นอยู่กับหลักประกันเป็นสำคัญ
เมื่อราคาตามบัญชีใหม่ที่คำนวณได้ตามมูลค่าข้างต้นต่ำกว่าราคาตามบัญชีเดิม รวมดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกในบัญชีของลูกหนี้คงค้าง สถาบันการเงินจะต้องบันทึกส่วนสูญเสียทั้งหมดในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดนั้น ในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้น ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้
6.2 กรณีที่สถาบันการเงินรับชำระหนี้โดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดขึ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้สถาบันการเงินตัดจำหน่ายยอดลูกหนี้ให้หมดไปและบันทึกบัญชีสินทรัพย์ ที่ได้รับโอนมาด้วยมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์หักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการขาย ส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นให้บันทึกในงบกำไรขาดทุนทันทีที่มีการรับโอน โดยให้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ