การยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 453) พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday April 21, 2006 10:25 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            21 เมษายน 2549
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุนทุกบริษัท
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ฝนส.(22)ว.93/2549 เรื่อง นำส่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 453) พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอนำส่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 453) พ.ศ.2549 (พระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นภาษีอากรในการควบรวมกิจการตาม Master Plan) และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549(พระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของกิจการวิเทศธนกิจ) โดยพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 38 ก วันที่ 17 เมษายน 2549 แล้ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นางทองอุไร ลิ้มปิติ)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 453)พ.ศ.2549
2.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎกร(ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร.0-2283-6875-6
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่..... ณ........
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 453)
พ.ศ.2549
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2549
เป็นปีที่ 61 ในรัชการปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 453) พ.ศ.2549"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้
"แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" หมายความว่า แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2547
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า
(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(2) บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(3) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
(4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ทั้งนี้ เฉพาะการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2549
มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เฉพาะการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 6 มกราคม
พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2549
มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่สถาบันการเงินโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เฉพาะการโอนกิจการที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม
พ.ศ.2549
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบริการทางการเงินที่จำเป็นให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเพื่อช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินต้องควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กันซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการที่สถาบันการเงินควบรวมเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับเงินได้พึงประเมิน มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ สถาบันการเงินควบรวมเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กัน ทั้งนี้ เฉพาะการควบเข้ากันหรือโอนกิจการที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2549 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 454)
พ.ศ.2549
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2549
เป็นปีที่ 61 ในรัชการปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) มาตรา 5 เอกาทศ มาตรา 5 ทวาทศ และมาตรา 6(20) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 259) พ.ศ.2535
(2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร(ฉบับที่ 260) พ.ศ.2535
(3) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร(ฉบับที่ 270) พ.ศ.2537
(4) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 306)
พ.ศ.2540
(5) มาตรา 5 เตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาอกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 307) พ.ศ.2540
(6) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 308)
พ.ศ.2540
มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้
"ธนาคารพาณิชย์" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
"การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ" หมายความว่า
(1) การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากต่างประเทศจากบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศในต่างประเทศ
(ก) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
(ค) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย
(ง) สาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์
(จ) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(2) การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินบาทจากธนาคารต่างประเทศในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเป็นเงินบาทแก่ธนาคารต่างประเทศในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์
มาตรา 5 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม(ก) ของ(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศ เพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศให้แก่
(1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
(3) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย
มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ดังต่อไปนี้
(1) เงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากเงินกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่ธนาคารพาณิชย์จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เฉพาะที่ได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ
(2) ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจากการเป็นผู้จัดการในการจัดหาเงินกู้ในลักษณะการร่วมให้กู้ โดยเงินกู้ดังกล่าวได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินจากตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับการร่วมให้กู้นั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ให้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นรายรับตามมาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 9 ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เฉพาะกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ
มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 5 เอกาทศ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 259) พ.ศ.2535 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจได้นไปให้กู้ยืมในต่างประเทศก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 11 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร(ฉบับที่ 270) พ.ศ.2537 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจได้นำไปให้กู้ยืมในประเทศก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 12 บทบัญญัติมาตรา 5 เตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 307) พ.ศ.2540 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการกู้ยืมในประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน
พ.ศ.2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้เฉพาะการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบการวิเทศธนกิจได้นำไปให้กู้ยืมแก่รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการกู้ยืมเงินนั้น ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2535 แต่เนื่องจากเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป จึงสมควรปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ โดยยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2535 แต่ยังคงใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศมาให้กู้ยืมในต่างประเทศ และปรับปรุงการลดอัตราทางภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลดังกล่าวสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ