การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าบริการ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday August 4, 2005 18:44 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                         4 สิงหาคม 2548
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนทุกบริษัท
ที่ ฝสว.(21) ว.70/2548 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าบริการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าบริการ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 122 ตอนพิเศษ 56ง ลงวันที่ 29 กรกฏาคม 2548 แล้ว
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ
1.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ให้บริษัทเงินทุนประกาศเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเป็นอัตราร้อยละต่อปี (Effective rate) โดยจำแนกตามกลุ่มเป็นเงินให้กู้ยืมเพื่อการประกอบธุรกิจ (Commercial loan) และเงินให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer loan)
2.ค่าบริการ ค่าธรรมเนีบม หรือค่าใช้จ่ายใดๆเกี่ยวกับให้กู้ยืม บริษัทเงินทุนอาจเรียกเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายสำหรับ Commercial loan ได้ตามประเภท จำนวน หรือ อัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศไว้อย่างชัดเจน ส่วน Consumer loan อาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุได้เฉพาะรายการที่ธปท.กำหนด อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ทางราชการค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้บุคคลอื่นหรือหน่วยงานภายนอก และค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการให้บริการแก่ลูกค้าหรือการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าแล้วแต่กรณีเฉพาะราย
3.การประกาศเผยแพร่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม และค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืม ให้บริษัทเงินทุนดำเนินการดังนี้
3.1 ยกเลิกการส่ง Hard Copy ประกาศอัตราดอกเบี้ยของบริษัทเงินทุนมายัง ธปท.
3.2 ปิดประกาศพร้อมทั้งตารางอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และตารางอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุของเงินให้กู้ยืม (ตารางแบบรายงานที่ 1 และ 2)ไว้ที่สำนักงานทุกแห่งภายในวันเดียวกับที่ออกประกาศ และเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของตนก่อนวันที่อัตราที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
3.3 แจ้งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริง และพอสมควรแก่เหตุที่บริษัทเงินทุนจะเรียกเก็บสำหรับ Consumer loan (ตารางแบบรายงานที่ 3) ให้แก่ลูกค้าหรือผู้ประสงค์จะขอกู้ยืม
3.4 ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย Consumer loan ซึ่งทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์ ให้บริษัทเงินทุนแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นหนังสือให้ลูกค้าทราบภายในเวลาอันควรปละ ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุรวมทั้งเงื่อนไขสำหรับConsumer loan ซึ่งทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์ ให้บริษัทเงินทุนประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ
พร้อมกันนี้ ธปท. ขอนำส่งคำอธิบายการจัดทำตารางแบบรายงานที่ 1-3
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.ประกาศธนาคารแห่งประเทศ เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่อง
ดอกเบี้ย ส่วนลดและค่าบริการ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2548
2.คำอธิบายการจัดทำตารางแบบรายงานที่ 1-3
ฝ่ายนโยบายความเสื่ยงและวิเคราะห์
โทร.0-2283-6827, 0-2356-7686
หมายเหตุ:
[
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่........ ณ ...............
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคาแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าบริการ
____________________________
1.เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อให้มีความชัดเจนและโปร่งใสในการเรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมหรือจ่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืมเงินของบริษัทเงินทุน ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ และเพื่อแประโยชน์ของผู้บริโภคในการเปรียบเทียบข้อมูลสำหรับเลือกใช้บริการจากบริษัทเงินทุน
2. อำนาจตามกฏหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังข้อความที่ปรากฎในประกาศนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
4.เนื้อหา
4.1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ดอกเบี้ยและส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชน
4.2 ให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชน ดังต่อไปนี้
(1) ประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่บริษัทเงินทุนจะจ่ายสำหรับเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชน บัตรเงินฝาก จำแนกตามลูกค้าแต่ละประเภท จำนวนงเงิน และระยะเวลา การกู้ยืมหรือรับเงินหรือรับฝากเงิน รวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ (ถ้ามี) ดังต่อไปนี้
(ก) อัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดสำหรับเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม เงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืน และเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยการออกบัตรเงินฝาก (Negotiable Certificate of Deposit)
(ข) อัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีเงื่อนไขตามที่บริษัทเงินทุนกำหนด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราที่ประกาศไว้ตาม (ก) ได้อีกไม่เกินร้อยละ 0.5 สำหรับเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนและลูกค้าประเภทเดียวกัน (ถ้ามี)
(ค) อัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดสำหรับเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืน ซึ่งบริษัทเงินทุนยินยอมจ่ายคืนเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลา (ถ้ามี) แต่จะต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดตาม(ก)
(ง) คุณสมบัติของกลุ่มลูกค้าที่บริษัทเงินทุนจะจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกค้าทุกรายในอัตราเดียวกันตามวงเงินรวมของกลุ่มลูกค้า (ถ้ามี) ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนจะต้องมีสมุดทะเบียนคุมรายชื่อลูกค้าแยกแต่ละกลุ่มด้วย
(จ) เงื่อนไขและประเภทลูกค้าที่บริษัทเงินทุนจะจ่ายดอกเบี้ยของตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นรายเดือน (ถ้ามี)
(ฉ) ค่าธรรมเนียมการับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนออกในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากลูกค้าและมีธนาคารพาณิชย์รับอาวัล ตามที่ได้ตกลงไว้กับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง (ถ้ามี)
(2) จ่ายดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไปตามอัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศสำหรับเงินกู้ยืมหรือเงินได้รับจากประชาชนแต่ละประเภทตาม(1)
(3) ในกรณีที่เงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนมีกำหนดเวลาจ่ายคืนตรงกับวันหยุดทำการของบริษัทเงินทุน ให้บริษัทเงินทุนจ่ายดอกเบี้ยต่อให้ลูกค้าสำหรับวันหยุดทำการนั้นด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้าไม่อาจรับคืนเงินในวันหยุดทำการได้ สำหรับกรณีบัตรเงินฝากที่ไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ย ให้บริษัทเงินทุนจ่ายดอกเบี้ยต่อให้ลูกค้าสำหรับวันหยุดทำการนั้นไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเมื่อทวงถามตาม (1)(ก)
(4) ในกรณีที่ตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันออกตั๋วล่วงหน้า บริษัทเงินทุนอาจใช้อัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ใช้บังคับอยู่ในวันเจรจากับลูกค้าก็ได้ โดยช่วงห่างระหว่างวันเจรจากับวันออกตั๋วจะต้องไม่เกิน 4 วันทำการ และมีหลักฐานการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยในวันเจรจาแนบสำเนาตั๋วไว้ด้วย
(5) สำหรับเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนดังต่อไปนี้ บริษัทเงินทุนอาจจ่ายอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดแตกต่างจากที่ประกาศตาม (1)ได้
(ก) กรณีตั๋วสัญญาใช้เงินที่ใช้เป็นประกันเงินให้กู้ยืมเต็มจำนวน(back to back)
(ข) กรณีเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชนที่บริษัทเงินทุนยินยอมจ่ายคืนก่อนครบกำหนดเวลา หากบริษัทเงินทุนใดไม่อาจดำเนินกิจการได้ตามปกติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนแบะเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจผ่อนผันให้จ่ายดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้เกินกว่าอัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศตาม (1)(ค) ได้ และในการผ่อนผันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใดๆไว้ด้วยก็ได้
ดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้กู้ยืม
4.3 ให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดสำหรับเงินให้กู้ยืมดังต่อไปนี้
(1)ประกาศอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงประเภทต่างๆ พร้อมคำจำกัดความของลูกค้าที่บริษัทเงินทุนจะเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดโดยอ้างอิงกับอัตราดังกล่าวด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทเงินทุนเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) เป็นต้น
(2)ประกาศเพดานอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจเรียกเก็บได้สูงสุดเป็นอัตราร้อยละต่อปี (Effective rate) รวมตลอดจนเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินที่บริษัทเงินทุนได้จ่ายไปตามภาระผูกพันเพื่อลูกค้า (ถ้ามี) ด้วย โดยจำแนกตามกลุ่มเป็นเงินให้กู้ยืมเพื่อการประกอบธุรกิจ (Commercial loan)1/ และเงินให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค(Consumer) 2/ ทั้งนี้จะจำแนกปลีกย่อยตามประเภทเงินให้กู้ยืมอีกก็ได้ และบริษัทเงินทุนอาจแยกประกาศเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้เพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้ออกจากเพดานอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดกรณีปกติก็ได้
(3)ไม่ว่ากรณีใดๆ บริษัทเงินทุนจะเรียกเก็บเดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไม่เกินเพดานอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดสูงสุดที่บริษัทเงินทุนประกาศไว้สำหรับให้กู้ยืมและลูกค้าแต่ละกลุ่มและประเภทตาม (2)
1/ เงินให้กู้ยืมเพื่อการประกอบธุรกิจ (Commercial loan) หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการประกอบธุรกิจ
2/ เงินให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer loan) หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่ให้แก่บุคคลธรรมดาที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งรวมถึง เงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย (Housing loan) และเงินให้กู้ยืมส่วนบุคคล(Personal loan)
(4)สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยทำสัญญาผูกพันไว้ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2535 บริษัทเงินทุนเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปหักด้วยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี
ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับเงินให้สินเชื่อ
4.4 ให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุย ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 กล่าวคือ บรรดาเงิน ทรัพย์สิน หรือสิ่งอื่นใดที่อาจกำหนดเป็นเงินได้ที่บริษัทเงินทุนหรือพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทเงินทุนได้รับจากลูกค้าเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลด หรือค่าบริการที่บริษัทเงินทุนอาจเรียกได้แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ดี หากเป็นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืมแล้วให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของดอกเบี้ย เว้นแต่ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้เรียกเก็บต่างหากได้
ส่วนค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายใดๆที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงินนั้น บริษัทเงินทุนอาจเรียกเก็บได้อยู่แล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนั้นๆ
4.5 ในกรณีของเงินให้กู้ยืมเพื่อการประกอบธุรกิจ (Commercial loan) หากบริษัทเงินทุนประกาศประเภท จำนวน หรืออัตราของค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืมไว้อย่างชัดเจน บริษัทเงินทุนอาจเรียกค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืมที่บริษัทเงินทุนจะเรียกเก็บได้ต่างหากโดยไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดก็ได้
4.6ในกรณีของเงินให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer loan) บริษัทเงินทุนอาจเรียกค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแกเหตุได้ต่างหากโดยไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ตามรายการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังตารางแบบรายงานที่ 2 แนบท้ายประกาศฉบับนี้เฉพาะค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
(1)ค่าใช้จ่ายที่บริษัทเงินทุนต้องจ่ายให้แก่ราชการ
(2)ค่าใช้จ่ายที่บริษัทเงินทุนต้องจ่ายให้แก่บุคคลอื่นหรือหน่วยงานภายนอกโดยมีหลักฐานการชำระเงินที่สามารถตรวจสอบได้ตามประเภทที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังตารางแบบรายงานที่ 2 แนบท้ายประกาศนี้
(3)ค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการให้บริการแก่ลูกค้าหรือการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าแล้วแต่กรณีเฉพาะราย ตามประเภทที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังตารางแบบรายงานที่ 2 แนบท้ายประกาศนี้
ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายประเภทเดียวกันตามที่ระบุไว้ข้างต้นซ้ำซ้อนไม่ได้
การประกาศเผยแพร่ดอกเบี้ยด้านเงินกู้ยืม ดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้กู้ยืม รวมทั้งค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืม
4.7ให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องการประกาศเผยแพร่ดอกเบี้ยและส่วนลดเงินกู้ยืมหรือเงินที่ได้รับจากประชาชน ดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้กู้ยืม และค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืม ตามข้อ 4.2 —4.6 ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(1)ปิดประกาศพร้อมทั้งตารางแบบที่ 1 และ 2 แนบท้ายประกาศนี้ไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทุกแห่ง ภายในวันเดียวกันกับที่บริษัทเงินทุนออกประกาศหรือเปลี่ยนแปลงประกาศ โดยให้ใช้บังคับกับสำนักงานใหญ่และสาขาทุกแห่ง
(2)เผยแพร่ประกาศพร้อมทั้งตารางแบบรายงานที่ 1 และ 2 แนบท้ายประกาศนี้ไว้ในเว็บไซต์ (Website) ของบริษัทเงินทุนก่อนวันที่อัตราที่ประกาศมีผลใช้บังคับ และต้องเผยแพร่ข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปีเพื่อให้ลูกค้าเรียกดูข้อมูลได้
(3)จัดเก็บต้นฉบับของประกาศพร้อมทั้งตารางแบบรายงานที่ 1 และ 2 แนบท้ายประกาศนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเอกสาร หรือสื่อบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือในรูปแบบใดๆ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับแต่วันที่อัตราที่ประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อจัดให้ลูกค้า ศาล หรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่ร้องขอ
(4)แจ้งข้อมูลอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer loan) แก่ลูกค้าหรือผู้ที่ประสงค์จะขอกู้ยืมทราบตามตารางแบบรายงานที่ 3 แนบท้ายประกาศนี้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการขอกู้ยืม และในกรณีที่บริษัทเงินทุนจะเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้าโดยใช้อัตราอ้างอิงบวกหรือลบส่วนต่าง (เช่น MLR (บวก,ลบ)...% หรือ อัตราดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ปี(บวก,ลบ) ... % เป็นต้น) ก็ให้แจ้งข้อมูลดังกล่าวพร้อมทั้งอัตราอ้างอิง ณ วันที่แจ้งลูกค้าทราบด้วย
(5)ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดเงินให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer loan) ซึ่งทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์ ให้บริษัทเงินทุนแจ้งเป็นหนังสือแก่ลูกค้าภายในเวลาอันควรด้วย
(6)นอกจากเกณฑ์ที่กล่าวมา หากมีการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุ รวมทั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวเนื่องกับค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์ บริษัทเงินทุนต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าเสียก่อน เว้นแต่ลูกค้าเลือกที่จะให้สิทธิบริษัทเงินทุนดำเนินการเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการตกลงใดๆ ไว้ บริษัทเงินทุนต้องประกาศการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นให้ลูกค้าทราบล่าวงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการเปลี่ยนแปลงจะมีผลใช้บังคับ
(7)แจ้งอัตราดอกไม้หรือส่วนลด จำนวนเงิน และระยะเวลาของตั๋วแลกเงินที่บริษัทเงินทุนออกในแต่ละคราวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ
ดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมที่มีหลักเกณฑ์เฉพาะ
4.8 การประกาศและการเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายตามข้อ 4.3-4.7 ที่เกี่ยวเนื่องกับเงินให้กู้ยืมประเภทอื่นที่มีการกำหนดไว้เป็นพิเศษต่างหากจากประกาศฉบับนี้ ให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนั้นๆ
ดอกเบี้ยระหว่างสถาบันการเงิน
4.9 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการกู้ยืมเงินหรือรับเงิน และการให้กู้ยืมเงินระหว่างบริษัทเงินทุนกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงิน ให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 4.8 ให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนั้นๆ
5. วันเริ่มต้นใช้บังคับ
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2548
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ