การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่อนผันอัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday April 24, 2006 10:29 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        24 เมษายน 2549 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท.ฝนส.(21)ว.555/2549 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่อนผันอัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุน
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกหนังสือที่ ฝนส.(21)ว.71/2549 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพัน เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุน ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ไปแล้วนั้น ความในตอนท้ายของข้อ 4 ในหนังสือดังกล่าวได้กำหนดว่า “หากธนาคารพาณิชย์ คำนวณภาระผูกพันสำหรับอนุพันธ์ทางการเงินที่มีอยู่เดิมตามวิธีการที่กำหนดในประกาศฉบับนี้แล้วทำให้อัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด เกินกว่าอัตราส่วน 25% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 นั้น ธปท. ผ่อนผันเป็นการทั่วไป
หากอัตราส่วนที่กล่าวไม่เกิน 60% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเมื่อรวมการให้สินเชื่อ ลงทุนและก่อภาระผูกพันแก่ลูกค้าที่เกินอัตราส่วน 25% ทั้งหมดเข้าด้วยกันจะต้องไม่เกิน 3.5 เท่าของเงินกองทุนชันที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์นั้น”
เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตรงกับเจตนารมณ์ในการผ่อนผันอัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพัน เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนจึงขอซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
1.ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์คำนวณภาระผูกพันในส่วนของอนุพันธ์ทางการเงินที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่ 3 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ แล้วมีผลทำให้ อัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดรวมกันแล้วเกินกว่า 25% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 นั้น ให้ปฏิบัติดังนี้
1.1 กรณีอัตราส่วนที่กล่าวไม่เกิน 60% ของเงินกองทุนชันที่ 1 และเมื่อรวมจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันสำหรับลูกค้าทุกรายที่เกินอัตราส่วน
25% ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วไม่เกิน 3.5 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์นั้น ธปท. ได้ผ่อนผันเป็นการทั่วไปให้อยู่แล้ว ธนาคารพาณิชย์จึงไม่ต้องทำหนังสือขอผ่อนผันมายัง ธปท.อีกแต่จะทำธุรกรรมกับลูกค้ารายดังกล่าวเพิ่มเติมไม่ได้ และต้องปล่อยให้อัตราส่วนที่กล่าวลดลงอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1
1.2 กรณีอัตราส่วนที่กล่าวเกินกว่า 60% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือเกินกว่า 3.5 เท่าข้างต้น ธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกรรมกับลูกค้ารายดังกล่าวเพิ่มเติมไม่ได้ และจะต้องทำหนังสือขอผ่อนผันมาที่ ธปท.เป็นรายกรณี
2.ในกรณีที่นอกเหนือจากการผ่อนผันในข้อ 1 ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่มีอยู่เดิม ตามหนังสือของ ธปท.จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
2.1 หนังสือที่ ธปท.งก.(32)/2540 เรื่อง การผ่อนผันการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ ของสาขาธนาคารต่างประเทศ ลงวันที่ 6 มกราคม 2540(เฉพาะกรณีสาขาธนาคารต่างประเทศ)
2.2 หนังสือที่ ธปท.สนส.(12)ว.4463/2542 เรื่อง การชี้แจงการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2542
2.3 หนังสือ ธปท.สนส.(21)ว.2420/2546 เรื่อง แนวทางในการพิจารณาผ่อนผันการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ตามมาตรา 13 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกริก วณิกกุล)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร. 0-2283-5307, 0-22283-6820
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ...... ณ ......
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ