หลักเกณฑ์การนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 7, 2006 07:48 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                       7 กุมภาพันธ์ 2549
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุดธนาคาร
ที่ ธปท.ปนส.(21) ว. 161-2549 เรื่อง หลักเกณฑ์การนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่าย และไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่ไม่มีผลกำไรเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1)
1.เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการระดมเงินกองทุนของธนาคารพาณิชญ์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยอนุญาตให้มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในรูปของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ย จ่าย และไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่ไม่มีผลกำไร ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1) ทั้งนี้ จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอยู่หลายประการ ประการหนึ่งก็คือต้องรองรับผลขาดทุนของธนาคาราณิชย์ได้ในระหว่างการดำเนินการทำนองใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ(Absorb losses on a going-concern basis)
2.อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และข้อ6.1 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศดำรงเงินกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงกำหนดหลังเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่าย และไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่ไม่มีผลกำไร ให้เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1) ตามที่กำหนด ในหนังสือฉบับนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
หนังสือเวียนฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
4.เนื้อหา
4.1 ยกเลิกหนังสือเวียน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ที่ธปท.ง.(ว)1194/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การนับตราสารทุนประเภทใหม่ ๆ เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ลงวันที่ 31 มี.ค.42 และ (2) ที่ ธปท.ง.(ว) 2240/2542 เรื่อง การปรับลดอัตราส่วนเพดานการนับตราสารทุนประเภทใหม่ๆ เป็นเงินกองทุน ชั้นที่ 1 ลงวันที่ 15 มิ.ย.42 ถึงธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร และบริษัทเงินทุนทุกบริษัท
4.2 ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่ายและไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่ไม่มีผลกำไร เพื่อนับเป็นกองทุนชั้นที่ 1(Hybrid Tier1) เป็นผลลัพธ์ที่สุดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ทั้งสิ้น โดยต้องมีเงื่อนไข ดังนี้
(1) ธนาคารพาณิชย์ต้องมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และ
(2) ต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท.เป็นรายกรณี ทั้งนี้ เพราะตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนั้น มิใช่หุ้นสามัญหรือทุนในความหมายปกติธรรมดา ประการหนึ่ง และตราสารประเภทนี้อาจมีลักษณะที่แตกต่างซึ่งจะต้องมีการพิจารณาว่ามีลักษณะคล้ายทุนจริงหรือไม่ เพียงใดอีกประการหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการออกเป็นพิเศษ
4.3 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ (Hybrid Tier1) นอกจากจะมีคุณสมบัติตามข้อ 4.2 แล้ว ยังต้องมีคุณลักษณะเบื้องต้นที่สำคัญ ดังนี้
(1) ได้รับชำระครบเต็มจำนวน
(2) ไม่สะสมผลตอบแทน(Non-cumulative)
(3) สามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ได้ในระหว่างการดำเนินการทำนองใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ(Absorb losses on a going-concern basis) โดยไม่มีภาระต้องจ่ายผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปีที่ธนาคารพาณิชย์ไม่มีผลกำไร
(4) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เลิกกิจการ ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ จะได้รับชำระเงินในลำดับหลังจากผู้ฝากเงิน เจ้าหนี้สามัญ และเจ้าหนี้ด้อยสิทธิทุกประเภท ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้ด้อยสิทธิที่ถือตราสารที่นับอยู่ในเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารพาณิชย์นั้น
(5) ไม่กำหนดระยะเวลาในการชำระคืน
(6) ออกจำหน่ายโดยไม่มีหลักประกันจาก หรือการรับประกันโดยธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในเครือ
(7) การไถ่ถอนชำระคืนของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ จะต้องกำหนดเงื่อนไขของการไถ่ถอนไว้ในตราสาร และธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารจะไถ่ถอนได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และต้องทดแทนด้วยหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่สะสมเงินปันผลไปพร้อมกัน เว้นแต่ได้มีการออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่สะสมเงินปันผลเพื่อรองรับการไถ่ถอนไว้แล้ว หรือ ธปท. พิจารณาแล้วเห็นว่าธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนมากเพียงพอเกินกว่าความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์นั้น
ทั้งนี้ การไถ่ถอนจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ซึ่งก่อนการดำเนินการไถ่ถอน ธนาคารพาณิชย์จะต้องเสนอแผนการไถ่ถอนและการทดแทนดังกล่าวมายัง ธปท. ในเวลาพอสมควร
4.4 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ อาจมีเงื่อนไขในการปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้น (Step up) ได้เพียงครั้งเดียวภายหลังปีที่ 10 โดยอัตราที่ปรับเพิ่มสุทธิจากอัตราผลตอบแทนเดิมต้องไม่เกิน 100 basis points ในทุกรณี
4.5 ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่ที่มีลักษณะคล้ายทุนฯส่วนที่เหลือจากการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้
4.6 ธนาคารพาณิชย์ต้องเปิดเผยถึงรายละเอียดและคุณลักษณะที่สำคัญของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ดังกล่าวต่อสาธารณะในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจ
4.7 ธนาคารพาณิชย์ต้องเปิดเผยประเภทของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในงบการเงิน โดยจะต้องแสดงปริมาณและอัตราส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 แต่ละประเภท รวมทั้งตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ด้วย
5. บทเฉพาะกาล
ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ออกหุ้นบุริมสิทธิขายควบกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิก่อนวันที่ในหนังสือ ฉบับนี้ ตามหลักเกณฑ์ในหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 1194/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การนับตราสารทุน ประเภทใหม่ ๆ เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ยังคงนับหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 2549 แต่ทั้งนี้ เมื่อรวมกับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ (Hybrid Tier1)แล้ว ให้นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ทั้งหมด
6.วันเริ่มต้นบังคับใช้
หนังสือเวียนฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร.0-2283-6821 และ 0-2283-5804
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่......เวลา....ณ....
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ