บทความ: บัตรเครดิต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 16:18 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ผู้บริหารทีม ทีมเงินกองทุน

ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง

สายนโยบายสถาบันการเงิน

หากท่านผู้อ่านเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องมีบัตรเครดิตอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ใบ ซึ่งคงแตกต่างจากในอดีตสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ที่เรามักจะต้องพกธนบัตรหรืออย่างมากก็เป็นบัตร ATM เท่านั้น

บัตรเครดิตได้นำความสะดวกสบายให้กับผู้คนในการจับจ่ายใช้สอย เราไม่จำเป็นต้องเบิกเงินสดจากธนาคารเพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการ เราเพียงแต่พกบัตรเครดิตที่มีวงเงินเพียงพอกับมูลค่าสินค้าที่เราต้องการเท่านั้น โดยในบางครั้งเรายังอาจได้รับส่วนลดจากร้านค้าหากมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมทั้งยังสามารถสะสมแต้มเพื่อนำไปแลกของหรือบัตรกำนัลอีกด้วย ท่านผู้อ่านสงสัยมั้ยคะ บัตรพลาสติกใบเล็กๆ นี้ มีที่มาอย่างไร

จากข้อมูลใน Wikipedia บัตรเครดิตถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2457 โดยบริษัทเยอเนอรัลปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น ออฟแคลิฟอร์เนีย ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท โมบิล ออยล์ จำกัด ได้ทำบัตรให้กับลูกค้าและพนักงานของบริษัทเพื่อนำไปชำระค่าน้ำมัน แต่ใช้ได้เฉพาะบริษัทตนเองเท่านั้น นำไปซื้อสินค้าจากที่อื่นไม่ได้ ตอนนั้นบัตรเครดิตจะมีลักษณะเหมือนกับเหรียญโลหะ ต่อมาราวปี 2493 นายแฟรงค์ แมคนามารา (Mr. Frank McNamara) ซึ่งเป็นนักธุรกิจ เกิดลืมพกกระเป๋าสตางค์ติดตัวไปทานอาหารทำให้ไม่มีเงินจ่าย ต้องให้ภรรยานำเงินมาชำระให้ จึงคิดว่าถ้ามีบัตรพิเศษที่ใช้แทนเงินได้ก็จะดี จากนั้นจึงได้สร้างบัตรไดเนอร์สคลับ ขึ้นมาเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าและบริการแทนการชำระเงินโดยตรงซึ่งคำว่า "Diners" ก็มาจากคำแปลว่าอาหารเย็นนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการใช้บัตรเครดิตครั้งแรกในปี 2512 ซึ่งทางการก็ได้เข้ามากำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิตเนื่องจากถือเป็นธุรกิจบริการทางการเงินประเภทหนึ่ง โดยในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยมีทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเราเรียกว่า Non-Bank การใช้บัตรเครดิตในประเทศไทยมีการใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า มีจำนวนบัตรเครดิตที่ออกใช้ถึงกว่า 13 ล้านใบ

จากที่มาของบัตรเครดิตข้างต้น ก็ได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบ และวิธีการใช้มาเป็นลำดับ จนมาถึงปัจจุบัน บัตรเครดิตมิได้เป็นเพียงสื่อกลางในการชำระเงินของผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการต่างๆ ก็มีการใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิต โดยใช้บัตรในลักษณะที่เรียกว่าเป็น Corporate Card คือบัตรที่ออกให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัทเพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศหรือเลี้ยงรับรองลูกค้า และในภายหลังก็มีการใช้ในลักษณะเป็นบัตร Procurement Card หรือ Purchasing Card คือเป็นบัตรที่ออกให้กับพนักงานหรือลูกจ้างของกิจการเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจได้ เช่น ออกบัตรให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อเพื่อนำไปใช้ในการซื้อสินค้ามาใช้ในกิจการ เป็นต้น โดยกิจการดังกล่าวจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวทั้งหมด แทนที่วิธีการชำระเงินแบบเดิมที่มักจะใช้เช็คในการจ่ายชำระค่าสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบัตรเครดิตมีประโยชน์กับผู้ใช้ ทั้งในด้านการใช้ในลักษณะเป็นการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล หรือใช้ในการทำธุรกิจ แต่ผู้ถือบัตรที่ใช้ในลักษณะส่วนบุคคลนี้ ควรระมัดระวังว่าบัตรเครดิตเป็นเพียงสื่อกลางในการชำระเงิน จึงไม่ควรใช้ในลักษณะของการเป็นแหล่งสินเชื่อ เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น การใช้บัตรเครดิตก็เหมือนเป็นการดึงเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เป็นเพียงการเพิ่มระยะเวลาการถือครองเงินสดในมือให้ยาวขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องจ่ายชำระตามภาระที่มี ดังนั้น ก่อนการใช้ควรต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของสินค้าและบริการที่ซื้อ ความสามารถในการจ่ายชำระเงินของเราเอง รวมทั้งศึกษาเงื่อนไขของบัตรเครดิตแต่ละใบที่ใช้ให้ดี เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิน ฉบับวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ