รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน พฤศจิกายน 2553

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 7, 2010 11:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

วิกฤตการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อประชาชนในหลายพื้นที่

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 จำนวน 2,478 ราย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 24.6 เป็น 24.9 แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในระดับต่ำ โดยสะท้อนได้จากค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งประชาชนยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 16.7 เป็น 24.9 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีค่าคงตัวอยู่ที่ 14.7 เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินรวมทั้งพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวเพิ่มเพียงเล็กน้อยจาก 31.3 เป็น 31.7 แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความคาดหวังที่ดีขึ้นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต แต่หากมองโดยภาพรวมพบว่าสังคมไทยยังขาดเสถียรภาพอันเป็นผลเนื่องมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 31.84 บาท เป็น 32.44 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 27.59 บาท เป็น 28.59 บาท

เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนพฤศจิกายน 2553
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 13.9 “ไม่ดี” ร้อยละ 59.7
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 22.0 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 40.8
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.8 “หางานยาก” ร้อยละ 67.1
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 8.5 “หางานยาก” ร้อยละ 62.0
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 22.0 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 23.7

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2553 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ ภาคกลาง จาก 16.2 เป็น 16.7 ภาคเหนือ จาก 23.8 เป็น 25.8 ภาคตะวันออก จาก 19.7 เป็น 23.5 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 24.2 เป็น 28.7 เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในหลายพื้นที่ ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้าช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสาธารณภัยโดยเร่งด่วน ทั้งนี้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 23.6 เป็น 20.1 และภาคใต้ จาก 38.8 เป็น 32.3 เนื่องจากสังคมและการเมืองไทยยังขาดความมีเสถียรภาพ ประชาชนยังต้องการความมั่นคงจากรัฐบาลมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนภาคใต้ยังประสบปัญหาวาตภัยและอุทกภัยอย่างหนักโดยต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            16.6      15.7       12.1       13.4          11.7        7.9      5.7
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       15.3      14.5       12.9       13.3          11.7        9.7      6.2
ภาคกลาง              15.2      15.4       12.0       13.5          14.3        5.9      6.1
ภาคเหนือ              17.1      15.8       11.3       12.6          11.2        7.7      6.5
ภาคตะวันออก           15.5      16.0        9.6       14.1           8.8        9.3      4.8
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   16.9      16.4       12.0       13.9          10.6        7.5      5.2
ภาคใต้                18.6      16.8       12.4       14.0          12.8        6.5      4.7

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ปรับค่าจ้างและค่าแรงขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เพื่อลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อค่าครองชีพ

2. เร่งรัดการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากผลผลิตได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแลอย่างทั่วถึง

3. หามาตรการและแนวทางการป้องกันภาวะภัยธรรมชาติในระยะยาว รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อภาคการเกษตร

4. ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้นอกระบบ/ ผู้มีอิทธิพลเถื่อน และปัญหาการคอรัปชั่น

5. ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

6. แก้ไขปัญหาชุมชนระดับรากหญ้า ปัญหาปากท้องของประชาชน และสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ให้เหมาะสมกับภาวะในปัจจุบัน

7. ดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมและไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชนนักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ