ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 (November 2010)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 5, 2011 14:13 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น

ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 200 ราย ได้ผลดังนี้

ดัชนีมูลค่าส่งออก

ดัชนีมูลค่าส่งออก ในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีค่าเท่ากับ 51.0 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป และ อาหารสำเร็จรูป สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ข้าว ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง เชื้อเพลิงและพลังงาน

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีค่า 49.7 สินค้าที่มีคำสั่งซื้อใหม่ลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป และอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ส่วนสินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผักผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/กระป๋องและแปรรูป ยางพารา เชื้อเพลิงและพลังงาน และ อาหารสำเร็จรูป

ดัชนีการจ้างงาน
            เดือน           %ดีขึ้น      %เท่าเดิม       %ลดลง     ผลต่าง       ดัชนี
        พฤศจิกายน 53        21.3         64.4        14.3       7.0      53.5
           ตุลาคม 53        18.0         65.9        16.1       1.9      51.0
          กันยายน 53        14.6         70.8        14.6       0.0      50.0

ดัชนีการจ้างงานในเดือนพฤศจิกายน 2553มีค่าเท่ากับ 53.5 แสดงว่าการจ้างงานภาคการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีค่า 45.3 มูลค่า สินค้าคงคลังที่ลดลง ได้แก่ ยานพาหนะ/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผักผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/กระป๋องและแปรรูป ยางพารา ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป และ อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ส่วนมูลค่าสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ อาหารสำเร็จรูป

ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ

ปัญหา

  • ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป รวมทั้ง ราคาน้ำมัน ค่าแรง และวัตถุดิบ เช่น cotton ยางพารา ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าสูงขึ้น
  • ขาดแคลนแรงงาน ทั้งที่มีฝีมือ และไม่มีฝีมือ ขณะเดียวกันคุณภาพของแรงงานใหม่ด้อยลง เนื่องจากระบบการศึกษา
  • ขาดแคลนเรือสินค้าไปยังผู้ซื้อทางตะวันออกกลาง
  • ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ สภาวะเงินตึงตัวของยุโรป และอเมริกา กระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง
  • การแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งจะส่งผลให้มีการสะสมปัญหามากยิ่งขึ้น
  • ด่านชายแดนไทย-พม่าปิดทำการ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก
ข้อเสนอแนะ

ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้

  • ควบคุมค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
  • รักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ให้เกิน 2% พร้อมสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน
  • เพิ่มอัตราชดเชยภาษีส่งออก เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • รัฐควรเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกจากภาคเอกชน และประเทศเพื่อนบ้าน
  • รัฐบาลควรรีบเจรจากับประเทศพม่าให้เปิดด่านชายแดน

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกจะมีการปรับปรุงข้อมูลดัชนีย้อนหลัง 1 เดือน

ภาคผนวก

1. กลุ่มสินค้าเป้าหมายที่ทำการสำรวจ มีจำนวน 86 กลุ่มสินค้า

2. การคำนวณดัชนี เป็นดัชนีการกระจาย (Diffusion Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่มีคุณสมบัติเด่นในการเป็นตัวชี้นำ (leading indicator) และแสดงทิศทางการเติบโต (growth) ของภาวะธุรกิจ จากการแปลงข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative) ให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative) โดยกำหนดค่าคำตอบที่ได้รับจากผู้ตอบแบบสอบถาม คือ เพิ่มขึ้นให้คะแนน เท่ากับ 1 เท่าเดิมให้คะแนน เท่ากับ 0.5 และ ลดลงให้คะแนนเท่ากับ 0 จากนั้นนำคะแนนทั้งหมดมารวมกัน หารด้วยจำนวนผู้ตอบแบบทั้งหมด แล้วคูณด้วย 100 จะได้ดัชนีของแต่ละคาบเวลา ดัชนีจะมีค่าสูงสุดเท่ากับ 100 และค่าต่ำสุดเท่ากับ 0

3. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อแสดงทิศทางเศรษฐกิจภาคการส่งออก ใช้เส้นค่า 50 (break even point) เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ถ้าผลการคำนวณดัชนีอยู่เหนือเส้น 50 แสดงว่านักธุรกิจมองว่าธุรกิจดีขึ้น ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 50 แสดงว่านักธุรกิจมองว่าธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง และถ้าดัชนีอยู่ใต้เส้น 50 แสดงว่านักธุรกิจมองว่าธุรกิจแย่ลง

ทั้งนี้ ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว หากดัชนีตัดแนวเส้น 50 ลงมา หมายถึง ภาวะธุรกิจแย่ลงหรือชะลอตัว สำหรับในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ถ้าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ขึ้นไป แสดงว่าภาวะธุรกิจดีขึ้นหรือขยายตัว

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร.0 2507 5811-13, โทรสาร 0 2507 5806,0 2507 5825

www.price.moc.go.thEmail: neworders@moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ