รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมีนาคม 2554 และไตรมาสแรกของปี 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 5, 2011 11:06 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2554 ไม่ได้สูงขึ้นมากนักตามที่คาดการณ์

กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนมีนาคม 2554 เท่ากับ 110.49 โดยสูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ร้อยละ 3.14 เป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้สูงขึ้นมากนักตามที่สำนักเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์ เมื่อเทียบกับเดือน กุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.49 และเฉลี่ยระยะ 3 เดือน (มกราคม - มีนาคม 2554 เทียบกับช่วงระยะเดียวกัน ปี 2553 ) สูงขึ้นร้อยละ 3.01 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาสแรกเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 3.09 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของไทย ที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของภาครัฐฯ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล และการดูแล ราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 เท่ากับร้อยละ 3.2 - 3.7

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวด เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.40 ไข่ไก่ สูงขึ้นร้อยละ 2.30 ผักสด สูงขึ้นร้อยละ 8.46 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 1.64 อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.91 และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.37 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.69 ขณะที่ ราคาผลไม้สด ลดลงร้อยละ 3.15 และข้าวสารเจ้า ลดลง ร้อยละ 0.12

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2554

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่อง ดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2554

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม2554 เท่ากับ 110.49 (เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เท่ากับ 109.95 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.49

2.2 เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.14

2.3 เทียบเฉลี่ย 3 เดือน (มกราคม - มีนาคม) 2554 กับระยะเดียวกันของ ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.01

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.40) โดยราคาสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผักสด ไข่และผลิตภัณฑ์นม เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด สำหรับราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ผลไม้สด และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.76 (เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.64 ) จากการสูงขึ้นของราคา สินค้าอาหารสด เช่น ผักสด ร้อยละ 8.46 ได้แก่ ผักกาดขาว ผักคะน้า แตงกวา ผักบุ้ง ผักชี ถั่วฝักยาวและมะนาว ผลกระทบจากฝนตกชุกน้ำท่วม และบางพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้ผักสดหลายชนิดได้รับความเสียหาย ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.64 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด นมเปรี้ยว) เนื่องจาก สภาพอากาศที่แปรปรวนแม่ไก่มีอาการเครียดการให้ไข่ลดลง เนื้อสุกร สูงขึ้นร้อยละ 2.50 สาเหตุจากการเกิดโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปริมาณ สุกรมีชีวิตลดลง ไก่สด สูงขึ้น ร้อยละ 2.44 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 1.64 (น้ำตาลทราย ขนมหวาน น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว ขูด มะขามเปียก เครื่องปรุงรส) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.12 เนื่องจากเริ่มจะมีข้าวฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด พ่อค้า ชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ประกอบกับมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศลดลง ผลไม้สด ร้อยละ 3.15 ได้แก่ มะละกอสุก มะม่วง แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง ชมพู่ และส้มโอ เป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิดทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.33 (เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.25) สาเหตุสำคัญ จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 2.69 วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.23 (ปูนซีเมนต์ อิฐ กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา) ของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น สบู่ถูตัว แปรงสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว กระดาษชำระ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจานและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สุรา ไวน์ และของใช้ส่วนบุคคล บางชนิด เช่น ยาสีฟัน แชมพูสระผม น้ำมันใส่ผม ครีมนวดผม น้ำหอม และแป้งทาผิวกาย เป็นต้น

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีเดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.14 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.87 โดยดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.41 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.77 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.48 ผักและผลไม้ ร้อยละ 17.26 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 9.48 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.99 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.54 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.53 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.46 หมวด เคหสถาน ร้อยละ 1.15 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.56 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.79 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.25

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 3 เดือน (มกราคม - มีนาคม) 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.01 สาเหตุจากการ สูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.65 และจากดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.47 ตามการสูงขึ้นของ หมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 5.27 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.15 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.30 ผักและผลไม้ ร้อยละ 18.52 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 8.77 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.91 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 2.85 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 8.08 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 17.93 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.58

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ ที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2554 เท่ากับ 104.83 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.28

6.2 เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.62

6.3 เทียบเฉลี่ย 3 เดือน(มกราคม - มีนาคม) ปี 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.46

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมีนาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้น ร้อยละ 0.28 (เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.14) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ของใช้ส่วน บุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สุรา ไวน์ และ ของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5- 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมีนาคม 2554 ยังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย ไม่สูงมากนัก

ดัชนีราคาผู้บริโภค...ชุดทั่วไปประเทศ....

เดือน มีนาคม ปี 2554

(2550=100)

Code    หมวด                        สัดส่วนน้ำหนัก               ดัชนี                    อัตราการเปลี่ยนแปลง               GROUP AND SUBGROUP
                                       ปีฐาน     มี.ค.54    ก.พ.54    มี.ค.53   มี.ค.54/   มี.ค.54/   ม.ค.-มี.ค.54/
                                                                             ก.พ.54    มี.ค.53    ม.ค.-มี.ค.53
   0    รวมทุกรายการ                  100.00     110.49    109.95    107.13     .49      3.14         3.01          ALL COMMODITIES
  1000  หมวดอาหารและเครื่องดื่ม           33.01     127.55    126.59    120.48     .76      5.87         5.65          FOOD AND BEVERAGES
  1110  ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง         2.88     142.98    142.89    136.94     .06      4.41         5.27          RICE, FLOUR AND CEREAL PRODUCTS
  1120  เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ          5.73     129.22    127.44    123.34    1.40      4.77         4.15          MEATS, POULTRY AND FISH
  1121  เนื้อสัตว์                         2.29     133.92    131.02    131.47    2.21      1.86          .86          MEATS
  1122  เป็ด ไก่                         1.08     130.08    128.22    124.26    1.45      4.68         3.49          DUCK, CHICKEN AND FROG
  1123  ปลาและสัตว์น้ำ                    2.37     125.19    124.51    115.97     .55      7.95         8.04          FISH AND AQUATIC ANIMALS
  1130  ไข่และผลิตภัณฑ์นม                  2.10     123.18     122.4    119.04     .64      3.48         3.30          EGGS AND DAIRY PRODUCTS
  1140  ผักและผลไม้                      3.90     159.58    159.72    136.09   -0.09     17.26        18.52          VEGETABLES AND FRUITS
  1150  เครื่องประกอบอาหาร               1.95     129.56    127.47    118.34    1.64      9.48         8.77          SEASONINGS AND CONDIMENTS
  1160  เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์             2.00     108.97    108.57     107.9     .37       .99          .91          NON-ALCOHOLIC BEVERAGES
  1200  อาหารสำเร็จรูป                  14.45     116.24    115.19    112.27     .91      3.54         2.85          PREPARED FOOD
  1210  อาหารบริโภค-ในบ้าน               7.93     118.77       117    113.97    1.51      4.21         3.14          PREPARED FOOD AT HOME
  1220  อาหารบริโภค-นอกบ้าน              6.52      114.1    113.91     111.1     .17      2.70         2.48          FOOD AWAY FROM HOME
  2000  หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า         2.96      97.33     97.28     97.09     .05       .25          .22          APPAREL AND FOOTWARE
  3000  หมวดเคหสถาน                   23.48      97.49     97.44     96.38     .05      1.15         1.14          HOUSING AND FURNISHING
  3100  ค่าที่พักอาศัย                     15.91      101.4    101.34    100.81     .06       .59          .59          SHELTER
  3110  ค่าเช่า                         15.19     101.18    101.13    100.63     .05       .55          .58          HOUSE RENT
  3200  ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง 5.10       83.9     83.89     81.06     .01      3.50         3.34          ELECTRICITY, FUEL AND WATER SUPPLY
  3300  สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน                .18     102.87    102.63    101.43     .23      1.42         1.23          TEXTILE - HOUSE FURNISHING
  3600  สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด           1.43     112.61    112.52    110.95     .08      1.50         1.78          CLEANIMG SUPPLIES
  4000  หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 6.87     103.49    103.41    102.91     .08       .56          .52          MEDICAL AND PERSONAL CARE
  4100  ค่าตรวจรักษาและค่ายา              2.17     101.42    101.32    101.01     .10       .41          .35          MEDICAL CARE
  4200  ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล                 3.80     105.35    105.27    104.53     .08       .78          .73          PERSONAL CARE EXPENDITURES
  5000  หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 26.80     102.07     101.3     99.62     .76      2.46         2.32          TRANSPORTATION AND COMMUNICATION
  5100  ค่าโดยสารสาธารณะ                5.22      93.61     93.61     93.12     .00       .53          .53          PUBLIC TRANSPORTATION SERVICES
  5200  ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง        13.56     108.29    106.81     103.7    1.39      4.43         4.21          VEHICLES AND VEHICLE OPERATION
  5400  การสื่อสาร                       4.48      99.24     99.25      99.4   -0.01     -0.16        -0.15          COMMUNICATION AND EQUIPMENTS
  6000  หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา     5.21      91.96     92.04     91.24   -0.09       .79          .79          RECREATION AND EDUCATION
         และการศาสนา
  7000  หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์    1.66     117.12    117.07    117.19     .04     -0.06        -0.08          TOBACCO AND ALCOHOLIC BEVERAGES
  8000  หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่ม 66.99     100.19     99.86     98.68     .33      1.53         1.47          NON-FOOD AND BEVERAGES
  9000  กลุ่มอาหารสดและพลังงาน           24.54      128.5    127.16    119.88    1.05      7.19         7.19          RAW FOOD AND ENERGY
  9100  อาหารสด                       14.61     139.96    139.16    129.58     .57      8.01         8.27          RAW FOOD
  9200  พลังงาน                         9.93     110.38    108.27    104.45    1.95      5.68         5.21          ENERGY
  9300  ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน            75.46     104.83    104.54    103.16     .28      1.62         1.46          EXCLUDE RAW FOOD AND ENERGY
หมายเหตุ..... : ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หมายถึง ดัชนีผู้บริโภคชุดทั่วไปที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงาน


          ที่มา:  สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ