รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนมีนาคม 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 5, 2011 13:50 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงติดต่อกัน จากภาวะแรงกดดันด้านราคาสินค้า ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และค่าครองชีพ ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 19.3* เป็น 16.0 โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะสัญญาณของการใช้จ่ายที่เริ่มชะลอตัวลงจากภาวะแรงกดดันด้านราคาสินค้า ราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจาก 19.3 เป็น 16.0 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของหลายฝ่ายที่ยังไม่มีข้อยุติ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 11.2* เป็น 9.8 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานรวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ ประกอบด้วยเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว สึนามิ และสถานการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 24.7* เป็น 20.1 เนื่องจากประชาชนมีความกังวลและไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือว่าจะมีการยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไปเพียงใด ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนมีนาคม 2554 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราค ลิตร ละ 36.84 บาท เป็น 37.44 บาท ส่วนน้ำ มันดีเซล มีราคาคงตัวอยู่ที่ราคาลิตรละ 29.99 บาท

(ที่มา:บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนมีนาคม 2554
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 9.8 “ไม่ดี” ร้อยละ 67.6
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 13.0 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 51.3
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 5.0 “หางานยาก” ร้อยละ 67.0
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 5.2 “หางานยาก” ร้อยละ 59.6
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 13.8 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 29.5

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2554 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ สะท้อนได้จากค่าดัชนีฯ ของทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 15.5* เป็น 11.1 ภาคกลาง จาก 10.0* เป็น 9.9 ภาคเหนือ จาก 24.0* เป็น 23.6 ภาคตะวันออก จาก 13.4* เป็น 10.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 24.6* เป็น 19.5 และภาคใต้ จาก 23.4* เป็น 20.6 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะแรงกดดันด้านราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน อีกทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            17.8      17.2       11.2        12.3         10.6       7.8       6.9
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       18.2      16.5       13.2        13.4         10.1       8.6       7.8
ภาคกลาง              18.8      18.1       11.0        12.6         12.8       5.4       4.9
ภาคเหนือ              17.1      17.4       11.5        11.4         13.5       7.2       6.1
ภาคตะวันออก           17.4      17.8       10.1        11.7         12.3       8.0       7.0
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   16.7      16.8       10.1        12.2          8.7       9.7       6.5
ภาคใต้                18.3      17.4       10.2        11.8          7.7       7.3       8.2

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

2. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตสินค้าภาคการเกษตรไม่ให้สูงจนเกินไป

3. แก้ไขปัญหาคอรัปชั่นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้งบประมาณที่กระจายไปสู่ท้องถิ่นเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

4. สนับสนุนการสร้างงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้และมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

5. ดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ