รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนมิถุนายน 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2011 15:19 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้

ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และค่าครองชีพ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่น ผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคโดยรวมของทั่งประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 20.0 เป็น 22.4* โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่น ต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ประชาชนคาดหวังว่าภายหลังการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีเสถียรภาพและสามารถสร้างความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศค่าดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเมื่อ เทียบกับเดือนมิถุนายนของปีที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 19.9 เป็น 22.4* เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.54 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 12.3 เป็น 12.0* เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมัน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 25.1 เป็น 29.4* เนื่องจากประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ได้จากการเลือกตั้งจะมีแนวนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มีความมั่นคงรวมทั้งสร้างความปรองดองให้กับทุกฝ่ายได้

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนมิถุนายน 2554 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 37.54 บาท เป็น 37.14 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล มีราคาคงตัวอยู่ที่ราคาลิตรละ 29.99 บาท( ที่มา:บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2554
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 10.1 “ไม่ดี” ร้อยละ 65.5
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 19.7 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 45.3
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.3 “หางานยาก” ร้อยละ 61.2
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.5 “หางานยาก” ร้อยละ 56.7
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 19.7 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 23.0

ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2554 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่น ทางเศรษฐกิจซึ่งมีผล ต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 11.9 เป็น 16.6* ภาคเหนือ จาก 20.8 เป็น 24.5* ภาคตะวันออก จาก 8.8 เป็น 9.7* และภาคใต้ จาก 25.9 เป็น 35.9* เนื่องจากมีการขยายมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนต่อไปอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งประชาชนมีความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้มาจากการเลือกตั้งว่าสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้ทุกฝ่ายมีความปรองดอง ซึ่งจะส่งผลให้บ้านเมืองมีความสงบและประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 18.7 เป็น 18.1* และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 26.4 เป็น 24.1* เนื่องจากราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพและราคาน้ำมันภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            17.8      17.0       10.7        12.5       10.3         7.8       7.6
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       16.3      14.2       11.3        13.1        9.5         8.7       8.3
ภาคกลาง              17.4      17.4       13.5        13.9       10.8         6.3       7.1
ภาคเหนือ              19.6      19.7        9.9        11.0       12.5         7.4       6.0
ภาคตะวันออก           20.7      19.4       11.9        13.0        8.7         7.4       5.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   15.9      16.3        9.0        12.0        9.0         8.9       8.9
ภาคใต้                18.8      17.2        9.9        12.7       10.5         7.1       8.2

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติดตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าและราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ติดตามดูแลและปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในภาวะที่สมดุลและเป็นธรรม เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพมีแนวโน้มที่สูงขึ้นมากซึ่งประชาชนไม่สามารถแบกรับภาระได้ในระยะยาว

2. สร้างความสามัคคีและปรองดองเพื่อให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนโดยทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ที่เป็นตัวบ่อนทำลายโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

3. ดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ

4. แก้ไขปัญหาทางด้านสังคม ยาเสพติดและอาชญากรรม โดยรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจังเพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน

5. ดำเนินโครงการประกันรายได้หรือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม และมีรายได้ที่เพียงพอกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ