รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนกันยายน 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 4, 2011 15:28 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 30.2 เป็น 30.4*โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินและพื้นที่เพาะปลูก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 24.6 เป็น 30.4* เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงให้กับประชาชน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 16.1 เป็น 18.2* เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงนโยบายที่สนับสนุนการใช้จ่าย เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท โครงการรับจำนำข้าว การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ มาตรการลดภาษีสำหรับบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก คาดว่าจะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 39.7 เป็น 38.5* เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่เกรงว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนกันยายน 2554 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน 91 และน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ทรงตัวอยู่ที่ราคาลิตรละ 35.37 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 26.99 บาท เป็น 27.99 บาท ( ที่มา:บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) )

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนกันยายน 2554
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 15.6 “ไม่ดี” ร้อยละ 55.8
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 29.3 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 36.2
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 9.9 “หางานยาก” ร้อยละ 58.3
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 9.7 “หางานยาก” ร้อยละ 53.1
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 25.8 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 20.7

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2554 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2554 มีภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 24.9 เป็น 29.4* ภาคเหนือ จาก 31.6 เป็น 32.6* และภาคใต้ จาก 26.7 เป็น 30.7* ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 25.7 เป็น 21.5* ภาคตะวันออก จาก 28.6 เป็น 17.7* และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 40.8 เป็น 40.3* อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ครอบคลุมหลายจังหวัดส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินและพื้นที่เพาะปลูก

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            17.3      14.9       11.1        13.2       10.6         7.8       7.7
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       18.1      14.7       11.7        13.6       10.9         7.0       6.7
ภาคกลาง              16.1      14.8       12.3        12.9       11.3         7.0       7.3
ภาคเหนือ              17.5      17.1       11.5        13.2       12.5         6.6       6.1
ภาคตะวันออก           18.9      17.0       11.7        14.5        9.5         9.5       8.3
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   15.8      14.2        8.2        13.0        9.6         8.9       9.2
ภาคใต้                18.6      13.0       12.5        12.9        9.7         8.5       8.7

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ปรับสมดุลให้กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ดูแลปัญหาค่าครองชีพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาค่าแรงขั้นต่ำอย่างเร่งด่วน

2. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน รวมทั้งวางแผนระยะยาวและหามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

3. ปราบการทุจริต/คอรัปชั่น แก้ไขปัญหาทางด้านสังคม ยาเสพติดและอาชญากรรม โดยรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจังเพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน

4. ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม อีกทั้งดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ

5. สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนรวมทั้งพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบัน

6. ดำเนินโครงการประกันรายได้หรือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม และมีรายได้ที่เพียงพอกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน

7. ดูแลราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้

8. เตรียมความพร้อมของภาคการพาณิชย์และอุตสาหกรรมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

---------------------------------------

การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ