รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนพฤศจิกายน 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 5, 2012 13:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเสียหายจากน้ำท่วมสร้างความวิตกกังวลและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาคยังอยู่ใน ระดับต่ำ ส่วนปัญหาที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 23.8 เป็น 19.1*โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำได้รับความเสียหาย แรงงานตกอยู่ในภาวะว่างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศที่มูลค่ามหาศาลและอาจเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องที่จะกระทบถึงต้นปี 2555 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจาก 24.9 เป็น 19.1* เนื่องจากความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ได้สร้างความหวาดกลัวและวิตกกังวลแก่ผู้ประสบภัย อีกทั้งยังบั่นทอนจิตใจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 15.3 เป็น 11.2* เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังคงสร้างความเสียหายในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งปัจจัยลบที่มาจากความเสี่ยงและความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของหลายประเทศในยุโรป

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 29.5 เป็น 24.4* เนื่องจากแรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ คาดว่าจะประสบกับปัญหาการว่างงานตามมา รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นภายหลังน้ำลด เช่น ค่าซ่อมแซมและฟื้นฟูที่พักอาศัย ฯลฯ

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน 91 ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 36.37 บาท เป็น 34.57 บาท และน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 36.37 บาท เป็น 33.29 บาท ส่วนน้ำมัน ดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 27.99 บาท เป็น 29.49 บาท ( ที่มา:บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนพฤศจิกายน 2554
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 10.8 “ไม่ดี” ร้อยละ 70.5
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 16.9 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 53.3
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 6.8 “หางานยาก” ร้อยละ 68.5
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.7 “หางานยาก” ร้อยละ 61.7
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 19.6 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 31.9

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2554 เทียบกับเดือนตุลาคม 2554 มีภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 18.8 เป็น 19.0* ภาคกลาง จาก 11.9 เป็น 13.9* ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคเหนือ จาก 27.7 เป็น 20.2* ภาคตะวันออก จาก 22.2 เป็น 10.2* ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 37.2 เป็น 29.2* และภาคใต้ จาก 20.1 เป็น 14.4* อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ เนื่องจากประชาชนในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อภาคการผลิต ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งทรัพย์สินและพื้นที่ การเกษตร โดยส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาวะการจ้างงาน และอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคม/ปัญหาอาชญากรรมตามมาในอนาคต

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            17.6      14.9       11.8        13.3       11.0         7.2       6.3
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       20.0      13.9       11.3        12.8        7.9         6.4       5.9
ภาคกลาง              14.5      17.8       12.3        17.2       14.9         5.7       3.0
ภาคเหนือ              15.7      14.7       11.7        12.4       11.4         7.7       7.6
ภาคตะวันออก           19.2      18.0       14.4        13.2       14.6         5.8       6.1
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   17.4      14.0       10.8        13.4       10.1         8.7       7.2
ภาคใต้                18.9      14.6       12.1        12.7       10.8         6.9       5.5

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ค่าครองชีพและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ดูแลและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงจนเกินไป รวมทั้งปัญหาการว่างงานและค่าแรงขั้นต่ำ

2. เร่งฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน อีกทั้งวางแผนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว จัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

3. หามาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

4. ปราบปรามการทุจริต/คอรัปชั่น แก้ไขปัญหาทางด้านสังคม ยาเสพติดและอาชญากรรม โดยรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน

5. ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม อีกทั้งดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ

6. สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนรวมทั้งพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบัน

7. ดูแลราคาสินค้าทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้

---------------------------------------

การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ