รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนธันวาคม 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 5, 2012 14:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากผ่านช่วงวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาคยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนปัญหาที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 18.5 เป็น 21.4*โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นภายหลังจากเกิดวิกฤติอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากการซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนและนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการในเดือนมกราคม 2555 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจาก 23.8 เป็น 21.4* เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ที่ยาวนานกว่า 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม อีกทั้งปัจจัยลบด้านการเมืองภายในประเทศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนชาวต่างชาติ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 10.6 เป็น 11.7* จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อชีวิตความเป็นอยู่ สภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยลบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีแนวโน้มของการฟื้นตัว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 23.7 เป็น 27.9* เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความหวังต่อนโยบายของรัฐบาลในการเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและเร่งแก้ไขปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลังจากหลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2554
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 10.4 “ไม่ดี” ร้อยละ 67.3
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 19.7 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 46.4
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.4 “หางานยาก” ร้อยละ 66.6
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.3 “หางานยาก” ร้อยละ 60.9
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 21.5 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 28.2

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2554 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2554 ทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 16.0 เป็น 19.0* ภาคกลาง จาก 12.2 เป็น 12.7* ภาคเหนือ จาก 19.2 เป็น 23.8* ภาคตะวันออก จาก 13.5 เป็น 18.4* ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 29.6 เป็น 34.3* และภาคใต้ จาก 14.4 เป็น 20.8* อย่างไรก็ตาม ในทุกภาคยังมีค่าดัชนีต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งนโยบายการพัฒนาและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่รัฐบาลเร่งผลักดันช่วยเหลือประชาชนส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมประชาชนยังมีความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมือง

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            17.2      14.5       11.9        13.7        11.2        7.8       7.0
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       17.1      12.9       13.0        13.9        11.8        8.2       6.2
ภาคกลาง              15.6      15.7       12.0        15.0        12.7        6.5       6.0
ภาคเหนือ              16.7      14.8       11.7        12.8        10.9        7.5       6.9
ภาคตะวันออก           19.0      16.7       11.2        14.0        10.4        6.8       7.7
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   16.9      14.2       10.8        13.5        10.2        9.3       7.2
ภาคใต้                18.6      13.8       11.9        13.2        10.4        8.2       8.1

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ค่าครองชีพและการว่างงาน

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ดูแลและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงจนเกินไป รวมทั้งปัญหาการว่างงานและค่าแรงขั้นต่ำ

2. สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน รวมทั้งเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน

3. เร่งฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมและหาแนวทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

4. ต้องการให้รัฐบาลหาแนวทางการจัดการ รวมทั้งแผนรองรับน้ำท่วมอย่างชัดเจน

5. ปราบปรามการทุจริต/คอรัปชั่น แก้ไขปัญหาทางด้านสังคม ยาเสพติดและอาชญากรรม โดยรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน

6. ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม อีกทั้งดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ

7. ดูแลราคาสินค้าทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้

---------------------------------------

การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ