รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม - มีนาคม 2555)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 3, 2012 15:33 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ผู้ประกอบการ คาดการณ์ต่อเศรษฐกิจไตรมาสหน้ายังมีแนวโน้มดี แต่มีความกังวลต่อการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม - มีนาคม 2555) จากการสอบถามนักธุรกิจใน 76 จังหวัดจำนวน 1,794 ราย คาดว่าดีขึ้นร้อยละ 48.2 ไม่เปลี่ยนแปลงร้อยละ 37.6 และไม่ดี ร้อยละ 14.2 คิดเป็นค่าดัชนีเท่ากับ 67.0 ซึ่งมีค่าสูงกว่าเส้น 50 แสดงให้เห็นถึง การคาดการณ์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจไตรมาสหน้า ยังมีทิศทางบวก แต่มีความกังวลต่อการฟื้นฟูสถานการณ์หลังน้ำท่วมและภาคการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปซึ่งยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

ดัชนีคาดการณ์ไตรมาสที่ 1/2555
                                      ร้อยละของดัชนีคาดการณ์ไตรมาส 4/54
การสำรวจ                            ดีขึ้น        ไม่เปลี่ยนแปลง       ลดลง     ดัชนี
                                    (%)            (%)           (%)     Q4/54
1. ผลประกอบการ                     44.2           42.2           13.6    65.3
2. ต้นทุนต่อหน่วย                      59.6           35.2            5.2    77.2
3. การจ้างงาน                       20.8           69.9            9.3    55.8
4. การขยายกิจการ                    16.2           75.2            8.6    53.8
ดัชนีคาดการณ์รายภาค
                                           ร้อยละของดัชนีคาดการณ์ Q4/54
            ภาค              จำนวน       ดีขึ้น       ไม่เปลี่ยนแปลง    ลดลง     ดัชนี
                             (ราย)       (%)           (%)         (%)   Q4/54
1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล           204      47.5          36.6        15.9    65.8
2. ภาคกลาง                     249      43.0          41.4        15.6    63.7
3. ภาคเหนือ                     443      57.5          30.0        12.5    72.5
4. ภาคตะวัน ออก                 135      50.0          32.8        17.2    66.4
5. ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ         447      43.7          42.2        14.1    64.8
6. ภาคใต้                       316      45.2          41.4        13.4    65.9
ดัชนีคาดการณ์รายสาขา
                                           ร้อยละของดัชนีคาดการณ์ Q4/54
           สาขา              จำนวน       ดีขึ้น       ไม่เปลี่ยนแปลง    ลดลง     ดัชนี
                             (ราย)       (%)           (%)         (%)   Q4/54
1. เกษตรกรรม                   179      45.5          44.9        9.6     68.0
2. อุตสาหกรรม                   432      45.7          40.8       13.5     66.1
3. พาณิชยกรรม                   735      42.8          45.2       12.0     65.4
4. ก่อสร้าง                       51      64.7          25.5        9.8     77.5
5. การเงินและประกันภัย            101      48.0          46.0        6.0     71.0
6. บริการ                       296      42.4          43.4       14.2     64.1
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะภาวะธุรกิจ ไตรมาส 4/2554

1. ภาวะธุรกิจทั่วไป

ผลกระทบจากอุทกภัยส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงการปรับราคาเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและต้นทุนของอุตสาหกรรมบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ส่วนภาคการส่งออก ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

2. ภาวะธุรกิจในสาขาต่าง ๆ

เกษตรกรรม ผลผลิตลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม วัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต เช่น อาหารสัตว์และปุ๋ย มีราคาสูง

อุตสาหกรรม สถานประกอบการเสียหายและแรงงานกลับภูมิลำเนา กระทบต่อการผลิตตามคำสั่งซื้อใหม่

พาณิชยกรรม ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันสูง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่สินค้าบางชนิดขาดแคลนในช่วงน้ำท่วม

ก่อสร้าง การก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

การเงิน ภาคการเงินมีทิศทางดี โดยเฉพาะกิจการประกันภัย

บริการ การขึ้นราคาเชื้อเพลิงกระทบต่อต้นทุนหลักในธุรกิจขนส่ง ขณะที่ธุรกิจโรงแรมยังขาดแคลนแรงงานในบางสาขา

3. ผลประกอบการของธุรกิจ

กำไรต่อหน่วยลดลงเนื่องจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น

4. ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าและบริการ

ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งราคาวัตถุดิบ เชื้อเพลิง และสาธารณูปโภค

5. การจ้างงานในธุรกิจ

ขาดแคลนแรงงานฝีมือและระดับปฏิบัติการในหลายอุตสาหกรรมซึ่งเดิมก็มีปัญหาขาดแคลนอยู่แล้วประกอบกับแรงงานบางส่วนได้กลับภูมิลำเนาในช่วงเกิดอุทกภัย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีความวิตกกังวลเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

6. การขยายกิจการของธุรกิจ

กิจการส่วนใหญ่ชะลอการขยายกิจการเนื่องจากรอดูสถานการณ์หลังน้ำท่วมและบางแห่งยังรอการฟื้นฟู

ข้อเสนอแนะ

1. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรการช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็วและในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

2. กระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร่งผลักดันการใช้งบประมาณประจำปี 2555 โดยเร็ว

3. ให้ความสำคัญต่อภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน

4. ควรพิจารณานโยบายปรับค่าจ้างแรงงานแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้ระบบไตรภาคีและรัฐไม่ควรแทรกแซง

5. ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนและราคาเชื้อเพลิงให้มีเสถียรภาพ

6. ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในระดับภูมิภาค เช่น เพิ่มการจ้างงานในท้องถิ่น สร้างร้านค้าชุมชน เป็นต้น

จังหวัดที่ทำการสำรวจ ประกอบด้วย

กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และ นนทบุรี จำนวน

211 ราย

          ภาคกลาง           13 จังหวัด  ได้แก่  สระบุรี  พระนครศรีอยุธยา  ราชบุรี  ลพบุรี  เพชรบุรี   กาญจนบุรี   สิงห์บุรี

สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ และ นครนายก

จำนวน 241 ราย

          ภาคเหนือ           17 จังหวัด  ได้แก่  เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก พิษณุโลก แพร่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์  อุตรดิตถ์

ลำพูน น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี สุโขทัย พิจิตร และ กำแพงเพชร

จำนวน 428 ราย

          ภาคตะวันออก        7  จังหวัด  ได้แก่  ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี  ตราด ฉะเชิงเทรา และ สระแก้ว

จำนวน 153 ราย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี

ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ยโสธร ชัยภูมิ สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู เลย

อำนาจเจริญ และ มหาสารคาม จำนวน 455 ราย

          ภาคใต้             14 จังหวัด  ได้แก่  สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ นราธิวาส ยะลา  ชุมพร

พังงา ระนอง สตูล พัทลุง และปัตตานี จำนวน 316 ราย

ระยะเวลาการสำรวจ

ดำเนินการสำรวจทุก ๆ 3 เดือน สำหรับไตรมาสนี้ ( ไตรมาสที่ 4/2554 ระหว่างเดือนตุลาคม — ธันวาคม 2554 ) ทำการสำรวจ ในเดือนธันวาคม 2554 โดยได้รับแบบสอบถามตอบกลับ จำนวน 1,794 ชุด มีแบบสอบถามเสีย จำนวน 5 แบบ คิดเป็นร้อยละ 0.3 รวม แบบสอบถามที่ใช้ในการประมวลผลจำนวน 1,804 ชุด การประมวลผลและการคำนวณดัชนี

ไตรมาสที่ 4/2554 ได้ทำการประมวลผลในวันที่ 20 มกราคม 2555 และทำเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การคิดสัดส่วนร้อยละ

เป็นการประมวลผลโดยนำผลการสำรวจมาคำนวณร้อยละของผู้ตอบในแต่ละคำตอบ (ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ดี)

2. การคำนวณดัชนี

เป็นการนำผลการสำรวจที่ได้มาจัดทำเป็นดัชนีการกระจาย (Diffusion Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงเฉพาะทิศทางของภาวะธุรกิจ (ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ดี)

การคำนวณดัชนีมีขั้นตอนดังนี้

1. แปลงข้อมูลเชิงคุณภาพให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (ตัวเลข) ดังนี้

             ถ้าตอบว่า        ดีขึ้นหรือเพิ่มขึ้น          จะให้คะแนนเท่ากับ1
             ถ้าตอบว่า        ไม่เปลี่ยนแปลง          จะให้คะแนนเท่ากับ0.5
             ถ้าตอบว่า        ไม่ดีหรือลดลง           จะให้คะแนนเท่ากับ0

2. นำร้อยละของผู้ตอบว่าดีบวกกับร้อยละของผู้ตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงที่คูณด้วย 0.5 จะได้ดัชนีของแต่ละคาบเวลา ดัชนีจะมีค่าสูงสุดเท่ากับ 100 และต่ำสุดเท่ากับ 0 การอ่านค่าดัชนี

             ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น          100 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจดี
             ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น           50 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง
             ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น            0 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจไม่ดี

หากระดับดัชนีเหนือเส้น 50 แสดงว่าภาวะธุรกิจยังคงขยายตัว ทั้งนี้ถ้าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ลงมา หมายถึงว่า ภาวะธุรกิจไม่ดีหรือชะลอตัว

หากระดับดัชนีต่ำกว่าเส้น 50 แสดงว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ถ้าค่าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ขึ้นไป แสดงว่าภาวะธุรกิจจะดีขึ้นหรือฟื้นตัว

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5811-3 โทรสาร.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ