รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนพฤษภาคม 2555

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 8, 2012 14:03 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความกังวลต่อปัญหาราคาสินค้าและราคาน้ำมัน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2555 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,233 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 24.3 เป็น 27.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 15.6 เป็น 18.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 30.0 เป็น 33.4 พบว่า ค่าดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการโชห่วยช่วยชาติและโครงการธงฟ้า โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อย การชะลอปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ รวมทั้งมาตรการชดเชยราคาพลังงาน แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังมีความกังวลต่อการผันผวนของราคาน้ำมันและพลังงาน รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง

จากนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีในด้านความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต( 3 เดือนข้างหน้า) เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นในด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับคงตัว ซึ่งค่าดัชนีสูงกว่า 50 บ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นด้านการวางแผนซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง เนื่องจากสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้นกอปรกับเดือนนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียน ประชาชนที่มีบุตรหลานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการวางแผนและระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   ค่าครองชีพ   การว่างงาน   เศรษฐกิจทั่วไป   ยาเสพติด    คอรัปชั่น
ประเทศไทย             18.8       17.0       14.7        10.9          10.4       6.4       6.8
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        20.0       16.2       16.1         9.7          11.4       5.2       6.7
ภาคกลาง               18.4       17.3       15.1        11.8          10.1       4.7       5.6
ภาคเหนือ               16.9       16.4       13.8        11.9          11.2       6.5       7.4
ภาคตะวันออก            19.7       16.2       14.2        11.9           9.1       8.5       9.4
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    20.2       19.5       14.6         8.9           8.8       7.1       6.1
ภาคใต้                 18.3       16.1       14.4        11.8          11.1       7.2       7.0

ผู้บริโภคในทุกภาค ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาอาหารและสินค้า

อุปโภคบริโภค

2. ดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3. พัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

4. ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรรม

2. ป้องการและปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ต้องการให้ยุติความขัดแย้งทางการเมือง

4. ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน

5. เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ด้านเกษตร

1. ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาที่เหมาะสม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา

2. ส่งเสริมและช่วยลดต้นทุนภาคเกษตร เช่น ต้องการให้ปุ๋ยมีราคาถูกลง เป็นต้น

---------------------------------------

การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 0-2507-6554 โทรสาร 0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ