รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนสิงหาคม 2555

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 5, 2012 15:41 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ จากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2555 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,241 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 29.1 เป็น 29.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 21.5 เป็น 20.6 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 34.2 เป็น 35.4 เนื่องจากความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ จากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น การขยายเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล การอนุมัติ การแทรกแซงราคายางพารา รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นไม่เต็มที่นัก เนื่องจากยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ภัยธรรมชาติและผลกระทบจากวิกฤติการเงินในยุโรปที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นในด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าดัชนีสูงกว่า 50 บ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความเชื่อมั่นด้านการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลอนุมัติขยายเวลาการส่งมอบรถยนต์ สำหรับโครงการคืนภาษีรถยนต์ใหม่คันแรกแบบไม่จำกัดระยะเวลา ส่งผลให้ประชาชนมีแนวโน้มในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ในอนาคตเพิ่มขึ้น ส่วนค่าดัชนีด้านความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า)ปรับตัวลดลงเนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในอนาคตและปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย และผู้ที่จบการศึกษาใหม่มีความกังวลเกี่ยวกับการหางาน อีกทั้งความเชื่อมั่นในด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในอนาคตปรับลดลง รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นด้านการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน    ยาเสพติด     คอรัปชั่น
ประเทศไทย             17.5       16.3        14.3           10.4         10.3        7.5        7.4
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        18.4       15.3        14.9           11.8         10.7        7.1        8.5
ภาคกลาง               15.7       15.1        12.8            9.9         11.5        6.8        7.2
ภาคเหนือ               17.2       18.7        14.0           11.9          9.6        6.3        5.9
ภาคตะวันออก            18.4       16.3        15.0            9.0         10.6        8.5        8.0
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.1       16.5        14.4            8.7          9.9        8.0        7.6
ภาคใต้                 18.5       15.6        14.7           11.0          9.7        8.5        7.3

ผู้บริโภคในเกือบทุกภาค ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ แต่ผู้บริโภคในภาคเหนือต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ

2. แก้ไขปัญหาการว่างงานและการหางานทำสำหรับผู้จบใหม่

3. แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ

4. ส่งเสริมการใช้สินค้าในประทศ โดยเฉพาะสินค้า OTOP

5. ดูแลราคาปุ ยและยาฆ่าแมลงให้ถูกลง

ด้านสังคม

1. การกวาดล้างยาเสพติดต่างๆ อย่างจริงจัง

2. การกวาดล้างบ่อนการพนันที่ผิดกฎหมาย

3. มีนโยบายดูแลคนชราให้มากขึ้น

4. ลดปัญหาการคอรัปชั่นต่างๆ

---------------------------------------

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 0-2507-6554 โทรสาร 0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ