รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนกันยายน 2555

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 2, 2012 17:02 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ทั้งนี้เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ นโยบายยกระดับรายได้ประชาชน ได้แก่ การยืนยันการขึ้นค่าแรง 300 บาทใน 70 จังหวัด และนโยบายการดูแลค่าครองชีพต่างๆ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2555 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,222 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 29.5 เป็น 30.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 20.6 เป็น 21.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 35.4 เป็น 36.1 เนื่องจากนโยบายยกระดับรายได้ประชาชนและเกษตรกร ได้แก่ การประกาศยืนยันการขึ้นค่าแรง 300 บาทใน 70 จังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก และมันสำปะหลัง การแทรกแซงราคายางพารา และนโยบายลดค่าครองชีพ ได้แก่ การชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รวมทั้งนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนมีการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคตและการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น และประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ประชาชนยังใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เนื่องจากค่าดัชนียังสูงกว่าที่ระดับ 50

อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนยังให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพ และปากท้องเป็นอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับแรกด้านสังคม แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน    ยาเสพติด     คอรัปชั่น
ประเทศไทย             17.5       15.6        14.3           11.4         10.6        7.1        7.4
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        18.2       14.6        15.0           12.1          9.8        6.1        7.7
ภาคกลาง               15.0       14.0        13.3           10.3         12.3        8.0        7.5
ภาคเหนือ               17.6       17.1        13.9           13.1          9.8        6.2        6.7
ภาคตะวันออก            19.4       17.9        14.2            9.9         10.5        7.8        6.1
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    18.5       16.6        14.8           11.4         10.7        6.3        7.8
ภาคใต้                 17.3       14.9        14.0           10.7         10.3        9.0        7.5

ผู้บริโภคในเกือบทุกภาค ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ แต่ผู้บริโภคในภาคเหนือต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1.ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป

2.แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน

3.แก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง

4.สร้างความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

5.กระตุ้นการลงทุนให้เกิดความชัดเจน

ด้านสังคม

1.แก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นอย่างเร่งด่วน

2.แก้ปัญหายาเสพติด

3.ลดการขัดแย้งในประเทศ

4.แก้ทัศนคติของคนทำงานรับใช้ประชาชน

5.แก้ปัญหาน้ำท่วม

---------------------------------------

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 0-2507-6554 โทรสาร 0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ