รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนธันวาคม 2555

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 2, 2013 16:31 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เนื่องจาก ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึน อีกทั้งภาระหนี้สินทางครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคลดลง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2555 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,214 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 36.6 เป็น 35.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 44.1 เป็น 42.0 เช่นกันเนื่องจาก ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งภาระหนี้สินทางครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคลดลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 25.1 เป็น 25.4 ซึ่งเป็นผลมาจากความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเทียวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีทั้งสองด้านยังสูงกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนด้านการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคตและการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง เนื่องจาก มาตรการรถคันแรกที่จะหมดเขตในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ประกอบกับการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน

อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนยังให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพและปากท้องเป็นอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับแรกด้านสังคม

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.0       15.1       14.4            10.6         10.5         8.4         7.9
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        16.8       13.1       15.1            10.8         10.5         9.6         8.9
ภาคกลาง               15.7       14.7       13.4             9.9         11.9         8.2         7.4
ภาคเหนือ               19.2       18.1       14.0            11.9          9.8         6.2         5.3
ภาคตะวันออก            16.9       15.5       16.4            10.3          9.9         7.5         9.8
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.2       15.1       14.4            10.5          9.7         8.4         7.6
ภาคใต้                 15.9       14.7       14.2            10.0         10.8         9.5         9.5

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ควบคุมราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่สมดุล

2. แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะในชนบทและผู้มีรายได้น้อย

3. สร้างความเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค

4. หามาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท

5. เร่งการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเพื่อช่วยขับเคลือนเศรษฐกิจภายในประเทศ เร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค

โดยเฉพาะระบบขนส่ง

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นและปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน

2. แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3. แก้ไขปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี

4. บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่ปัจจุบันสร้างความเสียให้กับพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก

5. ดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ