รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ไตรมาสที่ 1/2556 (มกราคม - มีนาคม 2556)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 5, 2013 15:58 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ผู้ประกอบการคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจไตรมาสหน้ายังมีแนวโน้มดี แต่มีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจโลก

ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาสที่ 1/2556 (มกราคม - มีนาคม 2556) จากการสอบถามนักธุรกิจใน 76 จังหวัด จำนวน 1,770 ราย คาดว่าดีขึ้นร้อยละ 42.9 ไม่เปลี่ยนแปลงร้อยละ 41.9 และไม่ดี ร้อยละ 15.2 คิดเป็นค่าดัชนีเท่ากับ 63.9 ซึ่งมีค่าสูงกว่าเส้น 50 แสดงให้เห็นถึง การคาดการณ์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจไตรมาสหน้า ยังมีทิศทางบวก แต่มีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 นอกจากนั้นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ดัชนีคาดการณ์ไตรมาสที่ 1/2556
                                      ร้อยละของดัชนีคาดการณ์ไตรมาส 1/56
        การสำรวจ                    ดีขึ้น        ไม่เปลี่ยนแปลง     ลดลง     ดัชนี
                                    (%)            (%)         (%)     Q1/56
1. ผลประกอบการ                     38.9            45.8        15.3    61.8
2. ต้นทุนต่อหน่วย                      66.7            30.1         3.2    81.8
3. การจ้างงาน                       23.6            64.2        12.2    55.7
4. การขยายกิจการ                    16.5            73.6         9.9    53.3
ดัชนีคาดการณ์รายภาค
                                           ร้อยละของดัชนีคาดการณ์ Q1/56
            ภาค                 จำนวน       ดีขึ้น       ไม่เปลี่ยนแปลง    ลดลง     ดัชนี
                                (ราย)       (%)           (%)         (%)    Q1/56
1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล             229        39.8         50.0        10.2     64.8
2. ภาคกลาง                       229        43.2         46.7        10.1     66.6
3. ภาคเหนือ                       434        38.7         43.5        17.8     60.4
4. ภาคตะวันออก                    117        47.8         34.8        17.4     65.2
5. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ            456        50.9         37.1        12.0     69.4
6. ภาคใต้                         305        37.2         39.8        23.0     57.1
ดัชนีคาดการณ์รายสาขา
                                           ร้อยละของดัชนีคาดการณ์ Q1/56
           สาขา              จำนวน       ดีขึ้น       ไม่เปลี่ยนแปลง    ลดลง     ดัชนี
                             (ราย)       (%)           (%)         (%)    1/56
1. เกษตรกรรม                   174      29.3          58.0        12.7    58.3
2. อุตสาหกรรม                   459      41.7          42.8        15.5    63.1
3. พาณิชยกรรม                   715      40.9          44.9        14.2    63.3
4. ก่อสร้าง                       53      28.3          56.6        15.1    56.6
5. การเงินและประกันภัย             76      68.4          28.9         2.7    82.9
6. บริการ                       293      39.4          50.3        10.3    64.6
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะภาวะธุรกิจ ไตรมาส 4/2555

1. ภาวะธุรกิจทั่วไป

ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ประกอบกับการส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ

2. ภาวะธุรกิจในสาขาต่าง ๆ

เกษตรกรรม คำสั่งซื้อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ดีขึ้น ต้นทุนสูงขึ้นจากค่าแรง น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า รวมทั้งอาหารสัตว์ และวัตถุดิบขึ้นราคา แต่ผลผลิต เช่น ไข่ ไก่เนื้อ ขายได้ในราคาที่ถูกมาก

อุตสาหกรรม ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนสูงขึ้นจากค่าแรง วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ แต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันสูงมาก

พาณิชยกรรม ธุรกิจค้าปลีกซบเซา เนื่องจากกำลังซื้อลดลง และการแข่งขันสูง

ก่อสร้าง แรงงานหายาก ต้นทุนค่าแรง และวัสดุปรับตัวสูงขึ้น

การเงิน มีทิศทางที่ดี ทั้งภาคสถาบันการเงินและการประกันภัย

บริการ ประชาชนลดการใช้จ่าย ทำให้ผลประกอบการลดลง ธุรกิจการขนส่งต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้นจาก ราคาอะไหล่ และค่าแรง

3. ผลประกอบการของธุรกิจ

กำไรต่อหน่วยลดลงเนื่องจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากค่าแรง สาธารณูปโภค และการแข่งขันที่มีอยู่สูง

4. ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าและบริการ

ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจากค่าแรง วัตถุดิบ เชื้อเพลิง และสาธารณูปโภค

5. การจ้างงานในธุรกิจ

ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในระดับปฏิบัติการ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ

6. การขยายกิจการของธุรกิจ

ผู้ประกอบการระมัดระวังในการขยายกิจการ จากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งค่าแรง ต้นทุน และการเมือง รวมทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ อันได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ข้อเสนอแนะ

1. รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง

2. รัฐควรคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เร็วขึ้น และแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่อสนับสนุนการส่งออก

3. ควรยกเลิกมาตรการควบคุมราคาน้ำมันปาล์ม โดยปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

4. ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพให้เหมาะสม ตลอดจนดูแลราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินไป

5. ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และรักษาเสถียรภาพทางการเมือง

6. ดูแลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้สูงเกินไป หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง(SMEs)

พร้อมกับเพิ่มช่องทางการตลาดส่งออกแก่ SMEs

7. พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้มากขึ้น และดูแลราคาให้เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน

จังหวัดที่ทำการสำรวจ ประกอบด้วย

กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และ นนทบุรี

จำนวน 229 ราย

          ภาคกลาง           13 จังหวัด  ได้แก่  สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี

สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ และ นครนายก

จำนวน 229 ราย

          ภาคเหนือ           17 จังหวัด  ได้แก่  เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก พิษณุโลก แพร่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์

อุตรดิตถ์ ลำพูน น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี สุโขทัย พิจิตร

และ กำแพงเพชร จำนวน 434 ราย

          ภาคตะวันออก        7  จังหวัด  ได้แก่  ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี  ตราด ฉะเชิงเทรา และ สระแก้ว

จำนวน 117 ราย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด

อุดรธานี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ยโสธร ชัยภูมิ สกลนคร นครพนม

หนองบัวลำภู เลย อำนาจเจริญ และ มหาสารคาม จำนวน 456 ราย

          ภาคใต้ 14 จังหวัด  ได้แก่              สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ นราธิวาส ยะลา

ชุมพร พังงา ระนอง สตูล พัทลุง และปัตตานี จำนวน 305 ราย

ระยะเวลาการสำรวจ

ดำเนินการสำรวจทุก ๆ 3 เดือน สำหรับไตรมาสนี้ ( ไตรมาสที่ 4/2555 ระหว่างเดือนตุลาคม -ธันวาคม 2555) ทำการสำรวจในเดือนธันวาคม 2555 โดยได้รับแบบสอบถามตอบกลับ จำนวน 1,772 ชุด มีแบบสอบถามเสีย จำนวน 2 แบบ คิดเป็นร้อยละ 0.10 รวมแบบสอบถามที่ใช้ในการประมวลผลจำนวน 1,770 ชุด การประมวลผลและการคำนวณดัชนี

การประมวลผลและการคำนวณดัชนี

ไตรมาสที่ 4/2555 ได้ทำการประมวลผลในวันที่ 21 มกราคม 2556 และทำเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การคิดสัดส่วนร้อยละ

เป็นการประมวลผลโดยนำผลการสำรวจมาคำนวณร้อยละของผู้ตอบในแต่ละคำตอบ ( ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ดี)

2. การคำนวณดัชนี

เป็นการนำผลการสำรวจที่ได้มาจัดทำเป็นดัชนีการกระจาย (Diffusion Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงเฉพาะทิศทางของภาวะ ธุรกิจ( ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ดี)

การคำนวณดัชนีมีขั้นตอนดังนี้

1. แปลงข้อมูลเชิงคุณภาพให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (ตัวเลข) ดังนี้

ถ้าตอบว่า ดีขึ้นหรือเพิ่มขึ้นจะให้คะแนนเท่ากับ1

ถ้าตอบว่า ไม่เปลี่ยนแปลง จะให้คะแนนเท่ากับ0.5

ถ้าตอบว่า ไม่ดีหรือลดลงจะให้คะแนนเท่ากับ0

2. นำร้อยละของผู้ตอบว่าดีบวกกับร้อยละของผู้ตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงที่คูณด้วย 0.5 จะได้ดัชนีของแต่ละคาบเวลา

ดัชนีจะมีค่าสูงสุดเท่ากับ 100 และต่ำสุดเท่ากับ 0

การอ่านค่าดัชนี

ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 100 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจดี

ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 50 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง

ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 0 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจไม่ดี

หากระดับดัชนีเหนือเส้น 50 แสดงว่าภาวะธุรกิจยังคงขยายตัว ทั้งนี้ถ้าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ลงมา หมายถึงว่า ภาวะธุรกิจไม่ ดีหรือชะลอตัว

หากระดับดัชนีต่ำกว่าเส้น 50 แสดงว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ถ้าค่าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ขึ้นไป แสดงว่าภาวะธุรกิจจะดีขึ้นหรือฟื้นตัว

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5811-3 โทรสาร.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ