รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 1, 2013 11:45 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 33.1 เป็น 32.4 เนื่องจากประชาชนได้รับข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการขาดแคลนพลังงาน และต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะ LPG ที่จะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,176 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 33.1 เป็น 32.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างทรงตัว หรือปรับตัวลดลงน้อยมากจาก 24.3 เป็น 24.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 38.9 เป็น 37.9 เนื่องจากประชาชนได้รับข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการขาดแคลนพลังงาน และต้นทุนพลังงานทีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าไฟฟ้า เนื่องจากการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) เพิ่มขึ้นและข่าวการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะเริ่มในเดือน เมษายน 2556 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทอื่นๆ ตามมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ค่าดัชนีทั้งสองด้านยังสูงกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคตและการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง เนื่องจาก ประชาชนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนยังให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพและปากท้องเป็นอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาเรืองการคอรัปชั่นและยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับแรกด้านสังคม

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่า ภูมิภาคที่ปรับตัวลดลงคือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 33.0 เป็น 32.7 ภาคเหนือ จาก 36.5 เป็น 30.0 ภาคตะวันออก จาก 23.7 เป็น 14.8 และภาคใต้ จาก 18.7 เป็น 16.4 ส่วนภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือภาคกลาง จาก 35.1 เป็น 38.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 42.5 เป็น 45.7 ทั้งนี้ค่าดัชนีในแต่ละภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมันต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ประชาชนรู้สึกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและค่าครองชีพสูงขึ้น เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคขาดแคลน รวมทั่งพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่วนของภาคใต้เกิดเหตุวางระเบิดและสร้างความเสียหายในหลายจุดของพื้นที่จังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ    การว่างงาน     เศรษฐกิจทั่วไป      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.2       15.6        14.3         11.0            10.5         7.7         7.2
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        17.6       14.7        15.4         11.5            10.7         8.1         7.3
ภาคกลาง               15.2       14.2        12.9         11.9             9.8         7.7         7.1
ภาคเหนือ               17.7       17.9        13.8         10.3            11.8         6.0         5.9
ภาคตะวันออก            18.0       17.9        15.2         11.9            11.0         8.5         6.8
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    19.9       17.3        15.8         10.2             8.9         7.1         7.4
ภาคใต้                 15.1       13.2        12.7         10.6            11.3         9.4         8.8

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

2. สร้างความมีเสถียรภาพทางการเมือง ลดความขัดแย้ง เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น

3. เร่งการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหาการคอรัปชั่น สร้างความโปร่งใสในระบบราชการและปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน

2. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

3. แก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

4. แก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

5. แก้ไขราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ