รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday May 5, 2013 14:07 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากรายได้ ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการภาครัฐในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน นอกจากนี้ใน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายและทำกิจกรรมต่างๆคึกคักมากขึ้น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2556 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,018 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 37.9 เป็น 42.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 32.2 เป็น 37.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.8 เป็น 45.5 เนื่องจากรายได้ภาคครัวเรือน ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลและจากภาวะการจ้างงานที่มีแนวโน้มขยายตัวดี รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน นอกจากนี้ การใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วันในปีนี้ ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ คึกคักมากขึ้น ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน รวมทั้งการวางแผนซื้อรถยนต์และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม เกิดการกระจายรายได้จากภาคการท่องเที่ยวสู่ภาคประชาชนส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนยังให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพและราคาน้ำมันเป็นอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับแรกด้านสังคม

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 37.0 เป็น 48.2 ภาคเหนือ จาก 36.9 เป็น 40.1 ภาคตะวันออก จาก 31.6 เป็น 37.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 43.7 เป็น 47.1 และภาคใต้ จาก 32.2 เป็น 34.3 ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 41.9 เป็น 37.8 ทั้งนี้ค่าดัชนีในแต่ละภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ปัญหาเงินบาทแข็งค่าซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งหลายพื้นที่ประสบปัญหา ภัยแล้งทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปัจจุบันยังคงตรึงเครียดอยู่

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

                                                                                       หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ    การว่างงาน     เศรษฐกิจทั่วไป      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.8       16.1        13.9         11.0            10.2         7.8         7.7
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        19.1       14.1        14.4         11.2             9.0        10.3         9.4
ภาคกลาง               14.2       15.1        13.9         11.8             9.4         7.9         7.3
ภาคเหนือ               18.6       17.7        13.4         10.7            12.5         6.2         6.3
ภาคตะวันออก            19.1       18.4        14.9          9.9             9.9         7.8         6.7
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    19.9       18.0        13.8         10.4            10.2         5.9         7.9
ภาคใต้                 16.1       14.3        13.4         11.6            10.2         8.7         8.1

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

2. ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC

3. ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการคอรัปชั่นในระบบราชการ รักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

2. ส่งเสริมการศึกษาและแก้ไขปัญหาการว่างงานเพื่อลดปัญหายาเสพติดในชุมชน

3. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนและผู้ปฎิบัติหน้าที่รู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

4. แนะนำและสนับสนุนให้ชุมชนมีอาชีพ ส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่ชุมชนจะได้พึ่งพาตนเองได้

5. ดูแลราคาพืชผลและกลไกราคาสินค้าทางการเกษตรเพื่อลดหนี้สินของเกษตรกร

6. แก้ปัญหาภัยแล้งและวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ