รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 5, 2013 15:46 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง เป็นเดือนแรกหลังจากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน เนื่องจากประชาชนมีความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วง เปิดภาคเรียนและมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่ยังไม่มีความชัดเจน ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการจ้างงาน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2556 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,091 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 42.2 เป็น 40.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 37.3 เป็น 35.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 45.5 เป็น 43.5 เนื่องจากประชาชนมี ความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนและมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลาน กอปรกับความกังวลที่มีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่ยังไม่มีความชัดเจน ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ภาคการส่งออก การจ้างงานและการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ลดลง ส่งผลให้การวางแผนซื้อรถยนต์และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่วนด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริโภคภาคประชาชนที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ภาคกลาง จาก 37.8 เป็น 39.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 47.1 เป็น 50.4 ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 48.2 เป็น 44.7 ภาคเหนือ จาก 40.1 เป็น 37.2 ภาคตะวันออก จาก 37.9 เป็น 34.9 และภาคใต้ จาก 34.3 เป็น 29.6 ทั้งนี้ค่าดัชนีในแต่ละภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาอาหารสำเร็จรูปได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ตามความขาดแคลน เนื่องจากโรคระบาดหรือภัยแล้ง และราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

                                                                                       หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ    การว่างงาน     เศรษฐกิจทั่วไป      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.7       15.1        13.3         11.0            10.7         8.3         8.1
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        17.9       12.6        14.1         11.8             8.9        10.3        10.9
ภาคกลาง               16.8       15.8        12.5         11.6            10.0         7.3         6.3
ภาคเหนือ               17.8       17.1        13.7         10.5            12.5         7.2         6.5
ภาคตะวันออก            19.1       17.1        13.6          8.0            10.3         8.4         7.2
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    18.6       15.6        14.1         11.1            10.6         7.4         8.2
ภาคใต้                 16.4       13.8        11.8         11.4            11.4         9.1         8.9

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าสาธารณูปโภคและต้นทุนราคาสินค้า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีรายได้ ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

2. ส่งเสริมภาคการค้าและการท่องเที่ยว ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความยากจนและการว่างงาน

2. ปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังโดยเฉพาะแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับประชาชน

4. ดูแลราคาสินค้าการเกษตรเพื่อลดหนี้สินของเกษตรกร

5. แก้ปัญหาภัยแล้งโดยการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

6. พัฒนาชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ