รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2556 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 4, 2013 14:28 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2556 และ 6 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมิถุนายน 2556 เท่ากับ 105.31 (ปี 2554 = 100) เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.15 และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.25 เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง (เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.27)

และเทียบเฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.70 แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้สูงขึ้นมากนัก เนื่องจากราคาอาหารสดค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับปกติตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลของผัก ผลไม้บางชนิด ส่งผลให้ปริมาณ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ไม่ได้ปรับตัวสูงมากนัก โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 6 เดือนต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ขณะที่ภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้านค่าครองชีพของประชาชนและราคาพลังงาน ส่งผลให้ภาวะการใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีเสถียรภาพ

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.27 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการสูงขึ้นของ หมวดน้ำมันเชื้อเพลิงจากราคาขายปลีกโดยเฉลี่ย ในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาตลาดโลก และค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง สำหรับสินค้า หมวดอื่นๆที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการศึกษาในส่วนค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีลดลงร้อยละ 0.07 จากการลดลงของราคาหมวดผักและผลไม้ โดยดัชนีลดลง ร้อยละ 2.34 เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไข่ หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ราคาโดยเฉลี่ยยังสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับปลาและ สัตว์น้ำ บางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากฤดูมรสุม ทำให้มีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ หมวดเครื่องประกอบอาหาร หมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง และหมวดอาหาร สำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2556 และ 6 เดือนแรกของปี 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมิถุนายน 2556 เท่ากับ 105.31 (เดือนพฤษภาคม 2556 เท่ากับ 105.15)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.15

2.2 เดือนมิถุนายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.25

2.3 เทียบเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม - มิถุนายน) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.70

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2556 เทียบกับ เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้น ร้อยละ 0.15 (เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.24) จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.27 ขณะที่ดัชนีหมวด อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.07

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.07 (เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.87) สาเหตุจากการลดลงของราคาหมวดผักและผลไม้เป็นสำคัญ ทำให้ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.34 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะหมวดผักสด ดัชนีลดลงร้อยละ 2.99 (มะนาว ต้นหอม มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง มะระจีน ดอกกุ้ยฉ่าย มะเขือเทศ) และหมวดผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.95 (เงาะ มังคุด ลองกอง แก้วมังกร องุ่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก) ขณะที่สินค้าอื่นๆ มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.14 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว แป้งสาลี เต้าหู้ เส้นก๋วยเตี๋ยวสด วุ้นเส้น ขนมจีน ขนมอบ) หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.37 (เนื้อสุกร เนื้อโค ไก่สด ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาจะละเม็ด ปลาลัง ปลาโอ กุ้งนาง กุ้งขาว ปลาหมึกกล้วย หอยแครง ปูทะเล ปูม้า กบ) หมวดไข่ สูงขึ้นร้อยละ 6.01 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) ตามต้นทุนการผลิตและการเลี้ยงที่สูงขึ้น หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าว(ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส มะขามเปียก น้ำพริกแกง) และหมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้น ร้อยละ 0.06 (ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง แฮมเบอร์เกอร์) อาหารบริโภค- นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.18 (อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง))

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.27 (เดือนพฤษภาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.10) จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.56 ตามการสูงขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 1.79 (น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น แก๊สโซฮอล์ 91,95, E20 และ E85) จากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าบริการบำรุงรักษายานยนต์ ร้อยละ 0.09 (ค่าบริการบำรุงรักษารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ค่าบริการล้างรถยนต์) ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.06 ( ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า ค่ารถรับส่งนักเรียน)

สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.11 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้า ประเภทเสื้อผ้าบุรุษ ร้อยละ 0.13 (เครื่องแบบนักเรียนมัธยมศึกษาชาย เครื่องแบบข้าราชการชาย เครื่องแบบอุดมศึกษาชาย) เสื้อผ้าสตรี ร้อยละ 0.03 (ผ้าตัดกระโปรง เครื่องแบบนักเรียนมัธยมหญิง เครื่องแบบข้าราชการหญิง เครื่องแบบอุดมศึกษาหญิง ชุดทำงานสตรี) เครื่องแบบเด็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.42 (เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล กางเกงเด็ก) และผลิตภัณฑ์รองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ รองเท้าแตะหนัง บุรุษ รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ0.09 จากการสูงขึ้นของค่าที่พักอาศัย ร้อยละ 0.11 (ค่าเช่าบ้าน) ค่าวัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.13 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ปูนซิเมนต์ สีน้ำพลาสติก อิฐ กระเบื้องปูพื้น) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.34 (ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ไม้กวาด น้ำยารีดผ้า ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง น้ำยาขจัดคราบสกปรกเสื้อผ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.09 จากการสูงขึ้นของค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.03 (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรดในกระเพาะ ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจสุขภาพประจำปี) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ 0.13 (ยาสีฟัน แปรงสีฟัน กระดาษชำระ น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผ้าอนามัย ผลิตภัณฑ์และป้องกันบำรุงผิว) และค่าบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.35 (ค่าทำเล็บ ค่าแต่งผมสตรี ค่าแต่งผมชาย) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนาสูงขึ้นร้อยละ 0.20 โดยหมวดการศึกษา สูงขึ้นร้อยละ 0.63 จากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 0.59 (ค่าเล่าเรียนการศึกษาระดับระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ ระดับมัธยม ศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวะ ระดับอุดมศึกษา ค่าเรียนพิเศษ) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับการศึกษา ร้อยละ 5.62 (ค่าถ่ายเอกสาร) และหมวดเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.18 จากการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์เบียร์ ร้อยละ 0.09 ผลิตภัณฑ์ไวน์ ร้อยละ 0.02 และผลิตภัณฑ์สุรา ร้อยละ 0.36

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนมิถุนายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.25 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.52 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.15 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 6.12 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 5.06 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 9.76 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.70 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.01 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.24 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.59 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.91 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.31 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.83 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.95 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.39 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 7.31

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.70 จากการสูงขึ้นของดัชนี หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.88 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.01 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.77 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.88 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 3.38 ผักและผลไม้ ร้อยละ 11.94 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.52 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.69 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.85 หมวดเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ร้อยละ 0.82 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.84 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.05 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.56 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.53 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.47

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ ที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2556 เท่ากับ 103.07 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.09

6.2 เดือนมิถุนายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.88

6.3 เทียบเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม - มิถุนายน) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.23

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (เดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.05) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เครื่องแบบนักเรียนชาย-หญิง เครื่องแบบข้าราชการชาย-หญิงเครื่องแบบอุดมศึกษาชาย-หญิง ถุงเท้านักเรียน รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ รองเท้าแตะหนังบุรุษ รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก) นอกจากนี้ สินค้าและบริการอื่นๆที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดในบ้าน ( ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ไม้กวาด น้ำยารีดผ้า ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง น้ำยาขจัดคราบสกปรกเสื้อผ้า) ค่าตรวจรักษาและค่ายา (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรดในกระเพาะ ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจสุขภาพประจำปี) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (ยาสีฟัน แปรงสีฟัน กระดาษชำระ น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผ้าอนามัย ผลิตภัณฑ์และป้องกันบำรุงผิว) และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าทำเล็บ ค่าแต่งผมสตรี ค่าแต่งผมชาย) ค่าเล่าเรียน ค่าเรียนพิเศษ และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ผลิตภัณฑ์เบียร์ ผลิตภัณฑ์ไวน์ ผลิตภัณฑ์สุรา)

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมิถุนายน 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมีนาคม 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ดัชนีราคาผู้บริโภค.. ชุดทั่วไปประเทศ...

เดือน มิถุนายน 2556

(2554=100)

Code           หมวด                สัดส่วนน้ำหนัก           ดัชนี                           อัตราการเปลี่ยนแปลง
                                      ปีฐาน    มิ.ย.56   พ.ค.56    มิ.ย.55    มิ.ย.56/     มิ.ย.56/   ม.ค.-มิ.ย.56/       GROUP AND SUBGROUP
                                                                           พ.ค.56      มิ.ย.55    ม.ค.-มิ.ย.55
0000    รวมทุกรายการ                 100.00    105.31   105.15    102.99       .15        2.25        2.70           ALL COMMODITIES
1000  หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 33.48    108.85   108.93    105.15     -0.07        3.52        3.88           FOOD AND NON - ALCOHOLIC BEVERAGES
1110  ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง          3.44    103.24   103.10    102.07       .14        1.15         .77           RICE, FLOUR AND CEREAL PRODUCTS
1120  เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ           6.35    107.49   107.09    101.29       .37        6.12        4.88           MEATS, POULTRY AND FISH
1121  เนื้อสัตว์                          2.70    105.16   104.85     99.68       .30        5.50        3.90           MEATS
1122  เป็ด ไก่                          1.11    105.39   104.95     99.96       .42        5.43        4.04           DUCK, CHICKEN AND FROG
1123  ปลาและสัตว์น้ำ                     2.55    111.00   110.51    103.71       .44        7.03        6.27           FISH AND AQUATIC ANIMALS
1130  ไข่และผลิตภัณฑ์นม                   1.77    106.18   104.30    101.07      1.80        5.06        3.38           EGGS AND DAIRY PRODUCTS
1140  ผักและผลไม้                       3.95    123.05   126.00    112.11     -2.34        9.76       11.94           VEGETABLES AND FRUITS
1150  เครื่องประกอบอาหาร                1.77    106.05   105.81    105.31       .23         .70         .52           SEASONINGS AND CONDIMENTS
1160  เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์              1.76    103.81   103.81    102.77       .00        1.01        1.69           NON-ALCOHOLIC BEVERAGES
1200  อาหารสำเร็จรูป                   14.43    107.21   107.10    105.90       .10        1.24        1.85           PREPARED FOOD
1210  อาหารบริโภค-ในบ้าน                8.97    108.72   108.66    107.25       .06        1.37        2.10           PREPARED FOOD AT HOME
1220  อาหารบริโภค-นอกบ้าน               5.46    105.26   105.07    104.17       .18        1.05        1.51           FOOD AWAY FROM HOME
2000  หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า          3.06    102.01   101.90    101.09       .11         .91         .82           APPAREL AND FOOTWARE
3000  หมวดเคหสถาน                    24.14    104.45   104.36    103.10       .09        1.31        2.84           HOUSING AND FURNISHING
3100  ค่าที่พักอาศัย                      16.82    100.93   100.82    100.56       .11         .37         .46           SHELTER
3110  ค่าเช่า                          15.42    100.82   100.71    100.49       .11         .33         .40           HOUSE RENT
3200  ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง  4.88    118.85   118.85    113.28       .00        4.92       12.39           ELECTRICITY, FUEL AND WATER SUPPLY
3300  สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน                 .26    103.27   103.30    100.95     -0.03        2.30        2.54           TEXTILE - HOUSE FURNISHING
3600  สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด            1.38    102.44   102.09    102.57       .34       -0.13         .06           CLEANIMG SUPPLIES
4000  หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล  6.54    101.93   101.84    101.09       .09         .83        1.05           MEDICAL AND PERSONAL CARE
4100  ค่าตรวจรักษาและค่ายา               1.64    101.85   101.82    100.95       .03         .89        1.24           MEDICAL CARE
4200  ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล                  3.94    102.39   102.26    101.40       .13         .98        1.18           PERSONAL CARE EXPENDITURES
5000  หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร  25.54    102.75   102.18    100.78       .56        1.95        1.56           TRANSPORTATION AND COMMUNICATION
5100  ค่าโดยสารสาธารณะ                 2.15    101.99   101.93    101.88       .06         .11        1.80           PUBLIC TRANSPORTATION SERVICES
5200  ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง         15.58    104.36   103.44    100.88       .89        3.45        2.20           VEHICLES AND VEHICLE OPERATION
5400  การสื่อสาร                        4.08     99.77    99.77     99.88       .00       -0.11       -0.12           COMMUNICATION AND EQUIPMENTS
6000  หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา      6.03    100.94   100.74    100.55       .20         .39         .53           RECREATION AND EDUCATION
      และการศาสนา
7000  หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์     1.20    107.94   107.84    100.59       .09        7.31        7.47           TOBACCO AND ALCOHOLIC BEVERAGES
8000  หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่ม  66.52    103.22   102.94     101.6       .27        1.59        2.01           NON-FOOD AND BEVERAGES
9000  กลุ่มอาหารสดและพลังงาน            26.91    111.05   110.69    105.02       .33        5.74        6.41           RAW FOOD AND ENERGY
9100  อาหารสด                        15.52    111.28   111.59    104.75     -0.28        6.23        6.34           RAW FOOD
9200  พลังงาน                         11.40    111.45   110.21    105.54      1.13        5.60        6.66           ENERGY
9300  ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน             73.09    103.07   102.98    102.17       .09         .88        1.23           EXCLUDE RAW FOOD AND ENERGY
หมายเหตุ..... : ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หมายถึง ดัชนีผู้บริโภคชุดทั่วไปที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงาน

          ที่มา:  สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ