รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 5, 2013 14:47 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องจาก ประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ และภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความคาดหวังต่อรายได้ในอนาคตที่ไม่สูงขึ้นมากนัก รวมทั้ง แรงกระตุ้นจากมาตรการรัฐ ที่ผ่อนคลายลง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,228 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 40.1 เป็น 39.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 35.1 เป็น 32.6 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 43.5 เป็น 43.4 เนื่องจาก ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อถดถอย อีกทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ผ่อนคลาย กอปรกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว รวมทั้งปัญหาค่าเงินบาทที่มีความผันผวนที่ส่งผลต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวลดลง อีกทั้ง การวางแผนซื้อรถยนต์ และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากประชาชนมีความระมัดระวังการใช้จ่าย มากขึ้น การจับจ่ายด้านสินค้าอุปโภคบริโภคเกิดการชะลอตัว โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่มีภาระในการผ่อนรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรก และผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการเปิดภาคเรียนใหม่ของบุตรหลาน อีกทั้ง ราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันของตลาดโลก

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 44.7 เป็น 45.3 ภาคเหนือ จาก 37.2 เป็น 39.0 และ ภาคตะวันออก จาก 34.9 เป็น 39.0 ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 39.2 เป็น 38.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 50.4 เป็น 41.1 และภาคใต้ จาก 29.6 เป็น 29.5 ทั้งนี้ค่าดัชนีในแต่ละภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ปัญหา ค่าครองชีพและราคาสินค้า ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคประชาชนมีหนี้สิน ภาคครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงขึ้น อีกทั้งการบริโภคมีการชะลอตัวในกลุ่มประชาชนที่มีรายจ่ายจากการผ่อนรถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก อีกทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

                                                                                       หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ    การว่างงาน     เศรษฐกิจทั่วไป      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             16.9       14.8        13.1         10.8            10.7         8.5         7.8
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        17.6       13.1        14.2         10.3            11.0        10.6         9.5
ภาคกลาง               15.0       14.3        12.2         10.9            10.0         8.3         7.3
ภาคเหนือ               18.3       16.1        13.7         10.4            10.6         6.3         7.8
ภาคตะวันออก            17.6       17.6        12.7          8.2             9.8         9.5         8.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.6       15.7        13.2         11.6            10.7         8.7         6.6
ภาคใต้                 15.0       13.3        12.4         11.8            11.3         7.9         7.4

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าและต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบันประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

2. ปรับลดราคาค่าสาธารณูปโภคเพื่อช่วยเหลือประชาชน

3. แก้ไขปัญหาค่าเงินบาทผันผวนและหามาตรการรองรับเงินต่างประเทศที่ไหลเข้า/ออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ในประเทศ

4. ส่งเสริมภาคการค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

2. แก้ไขปัญหาความยากจนและการว่างงาน ปราบปรามยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หามาตรการต่างๆเพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับประชาชน

4. สนับสนุน/ส่งเสริมช่องทางการค้าสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ

5. แก้ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง โดยการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ