รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 5, 2013 16:36 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนถึงความระมัดระวังในการใช้จ่าย

จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,226 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 37.0 เป็น 36.0 ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 อีกทั้งดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 31.3 เป็น 30.0 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงจาก 40.7 เป็น 40.0 ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ความสามารถการใช้จ่ายของประชาชนลดลง อีกทั้ง ความกังวลจากข่าวการปรับขึ้นราคาก๊าชหุงต้ม ค่าผ่านทางด่วน และค่าเอฟทีงวดใหม่ ในวันที่ 1 กันยายน 2556 กอปรกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับลดลง ซึ่งกระทบต่อราคาในประเทศและรายได้ของเกษตรกร

อีกทั้งระดับความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ตัวเลขด้าน การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน ด้านการวางแผนซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต(6 เดือนข้างหน้า) ทุกรายการปรับลดลง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเกิดความกังวลในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 43.6 เป็น 36.5 ภาคเหนือ จาก 37.1 เป็น 37.0 และภาคใต้ จาก 28.4 เป็น 28.3 ส่วนภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ภาคกลาง จาก 34.2 เป็น 34.4 ภาคตะวันออก จาก 35.1 เป็น 38.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 38.9 เป็น 41.0 ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงกระทบต่อรายได้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนเกิด ความกังวลและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งหลายพื้นที่เกิดภัยแล้งพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.3       15.4        13.3            11.6         10.0        7.9         7.9
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        18.9       12.1        13.5            12.9         10.3        9.2        10.1
ภาคกลาง               15.4       15.9        13.0            10.5         11.3        6.4         6.3
ภาคเหนือ               18.2       17.1        13.7            12.1          9.7        7.3         7.0
ภาคตะวันออก            20.8       21.0        12.6             8.8          7.5        8.4         8.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.4       15.8        13.1            12.2          8.9        7.9         7.6
ภาคใต้                 15.3       14.4        13.5            10.9         10.6        8.3         8.1

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้า ราคาน้ำมัน/ก๊าซ และต้นทุนสินค้าต่างๆที่ปรับตัวสูงขึ้น

2. ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุน

3. ส่งเสริมและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้มีรายได้เข้าประเทศ และประชาชนมีรายได้

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

2. ปราบปรามยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาความยากจนและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค

4. แก้ไขปัญหาการว่างงาน/การขาดแคลานแรงงาน สร้างความสมดุลและส่งเสริมการอบรมเพื่อให้แรงงานต่างๆ

เกิดความชำนาญและมีศักยภาพมากขึ้น

5. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชน

6. ดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน

7. วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาภัยแล้งและฝนขาดช่วง

8. ปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ