รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 1, 2013 16:09 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันเนื่องจากเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่

จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,210 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 36.0 เป็น 34.9 ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 อีกทั้งดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 30.0 เป็น 27.6 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงจาก 40.0 เป็น 39.7 ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ซึ่งเกิดจากการที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ภาคการเกษตรได้รับความเสียหาย รัฐบาลและหลายหน่วยงานได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อีกทั้งการปรับขึ้น ค่าครองชีพบางรายการ ได้แก่ ราคาก๊าชหุงต้ม ค่าผ่านทางด่วน และค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(FT) ที่มีผลในวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของประชาชนทำให้มีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ

ทั้งนี้ระดับความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน ด้านการวางแผนซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต(6 เดือนข้างหน้า) ทุกรายการปรับลดลง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่เกิดความมั่นใจภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งการบริโภคสินค้าประเภทสินค้าคงทนอยู่ในภาวะอิ่มตัว

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคเหนือ จาก 37.0 เป็น 33.1 ภาคตะวันออก จาก 38.8 เป็น 30.9 และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 41.0 เป็น 39.7 และภาคใต้ จาก 28.3 เป็น 26.3 ส่วนภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 36.5 เป็น 38.6 และภาคกลาง จาก 34.4 เป็น 35.9 ทั้งนี้ค่าดัชนี ทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.1       14.7        14.0            11.9          9.6        7.5         6.5
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        18.1       11.7        14.9            11.4          9.5        8.5         8.9
ภาคกลาง               14.4       14.8        14.0            11.3         11.6        6.7         5.4
ภาคเหนือ               17.9       16.0        14.4            12.6         10.0        6.7         5.2
ภาคตะวันออก            19.6       18.2        15.0            11.3          7.9        6.3         6.1
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.4       16.0        14.0            12.8          8.7        7.5         5.5
ภาคใต้                 15.9       13.4        11.9            11.7          8.9        8.7         7.3

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้า ช่วยลดภาระรายจ่ายของประชาชน

2. ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุน

3. กระตุ้นภาคการเกษตรและการส่งออก จัดหาตลาดการส่งออกเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและ

สินค้าล้นตลาด โดยเฉพาะราคาผลไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น และยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักอย่างจริงจัง

2. แก้ไขปัญหาทางสังคม ความยากจน พัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น

3. ลดความขัดแย้งทางการเมือง บริหารงบประมาณการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ

4. วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาน้ำท่วม

5. ปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ