รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 3, 2013 14:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,287 คน ทุกจังหวัด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 36.2 เป็น 35.1 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 29.0 เป็น 28.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 41.0 เป็น 39.2 ดัชนีทุกรายการปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหา ความไม่สงบทางการเมือง การชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่งผลเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาชน รวมทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาคใต้มีมรสุมพัดผ่านส่งผลให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวและบริการ การลงทุนชะลอตัว ประชาชนมีความกังวลต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือน และระมัดระวังใช้เงินมากขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

ส่วน ระดับความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันและการวางแผนซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต(6 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความไม่สงบทางการเมืองส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ การบริโภคในภาคต่างๆชะลอตัว ช่วงนี้เป็นฤดูท่องเที่ยว ดังนั้นสถานการณ์ทางการเมืองจึงมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 39.2 เป็น 38.5 ภาคกลาง จาก 36.7 เป็น 33.0 ภาคเหนือ จาก 36.2 เป็น 35.7 ภาคตะวันออก จาก 35.6 เป็น 35.0 และภาคใต้ จาก 28.2 เป็น 24.8 ส่วนภูมิภาคที่มี การปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 39.1 เป็น 40.5 ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในส่วนกรุงเทพฯ อีกทั้งบางจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังต่อเนื่องจากการที่ฝนตกหนักในเดือนที่ผ่านมา ในเดือนนี้ภาคใต้เป็นช่วงมรสุมมีฝนตกหนักส่งผลให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน รวมทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             16.7       14.6        13.1            11.4         10.4        9.1         7.1
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        16.9       10.6        11.7            11.8         10.6        9.7        11.1
ภาคกลาง               15.4       14.9        12.5            11.6         11.9        8.7         4.7
ภาคเหนือ               18.0       17.3        14.5            12.4          9.4        6.8         5.0
ภาคตะวันออก            17.6       16.0        14.1             9.1          8.4       12.5         7.9
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.1       15.6        14.0            11.7         10.6        8.4         6.4
ภาคใต้                 15.7       14.1        12.1            10.7         10.6       10.0         7.6

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาแก๊สหุงต้ม น้ำมัน และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

2. ส่งเสริม/สนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรและการส่งออก จัดหาตลาดการส่งออกเพื่อแก้ไขปัญหา

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง

ด้านสังคม

1. ยุติความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความสามัคคีของคนในชาติ

2. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น และยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะในแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาทางสังคม ลดปัญหาการว่างงาน ความยากจน กระจายรายได้สู่ชนบท แก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

4. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสงบสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

5. ส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษาและปัจจัยพื้นฐาน ซ่อมแซมถนนหนทางในต่างจังหวัดให้ดีขึ้น

6. แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ