รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2014 15:03 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ต่อเนื่องกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,182 คน ทุกจังหวัด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 35.1 เป็น 33.6 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 28.8 เป็น 26.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 39.2 เป็น 38.2 ทั้งนี้ดัชนีทุกรายการปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม รวมทั้ง การที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แต่ประชาชนโดยส่วนใหญ่คาดหวังว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ใน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างล่าช้า ส่งผลกระทบต่อภาค การส่งออก การท่องเที่ยวและบริการของไทย รวมทั้ง การประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(Ft) งวดใหม่ในเดือนมกราคม 2557 ประชาชนรู้สึกว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

ส่วน ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันและ/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต (6 เดือนข้างหน้า) ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งประชาชนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นแม้ว่าจะเป็นการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากมีความกังวลในด้านราคาสินค้าและรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่วนการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคต (6เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ วางแผนการซื้อเพื่อใช้สอยตามความจำเป็นและเพื่อทดแทน

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 38.5 เป็น 35.9 ภาคเหนือ จาก 35.7 เป็น 31.5 ภาคตะวันออก จาก 35.0 เป็น 28.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 40.5 เป็น 38.7 ส่วนภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ภาคกลาง จาก 33.0 เป็น 36.1 และภาคใต้ จาก 24.8 เป็น 26.0 ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ซึ่งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การค้าขายและการลงทุน สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เริ่มปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าในหลายพื้นที่ยังได้รับผลกระทบจากฤดูมรสุม อีกทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมีการวางระเบิดสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและเจ้าหน้าทุกฝ่าย

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             16.7       13.7        13.3            11.6         10.3        9.0         7.8
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        18.0       10.8        13.0            11.0         10.5       10.1        10.9
ภาคกลาง               15.7       13.6        12.3            11.1         11.8        8.9         5.9
ภาคเหนือ               17.6       15.4        13.7            13.5          8.4        8.3         6.0
ภาคตะวันออก            16.0       16.3        13.9             9.4          8.7       11.3         8.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    16.6       14.2        13.8            12.1         10.5        8.3         7.2
ภาคใต้                 15.8       13.6        13.0            11.5         10.7        8.4         7.8

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน

2. ส่งเสริมสินค้าทางการเกษตร จัดหาตลาดการส่งออกเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ยางพารา ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง

ด้านสังคม

1. สร้างความมีเสถียรภาพทางการเมือง ยุติความขัดแย้งและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

2. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่นและยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะในแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาทางสังคม ลดปัญหาการว่างงาน ความยากจน กระจายรายได้สู่ชนบท แก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

4. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสงบสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

5. พัฒนาระบบการศึกษาอย่างจริงจัง

6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน 7.แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

8. ส่งเสริมสวัสดิการของผู้สูงอายุ

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ