รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 4, 2014 12:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,089 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 33.6 เป็น 29.5 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 26.7 เป็น 22.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 38.2 เป็น 34.3 ทั้งนี้ดัชนีทุกรายการปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมที่ยืดเยื้อ การปิดสถานที่ราชการหลายแห่งในเขตกรุงเทพฯและ หลายจังหวัด การประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่งผลทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว นักลงทุน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

แม้ว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มการฟื้นตัวโดยที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า การใช้จ่ายของภาครัฐที่ล่าช้าออกไป มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หมดลง เงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่ในเดือนมกราคม 2557 และความกังวลของประชาชนในเรื่องปัญหาปากท้อง/ค่าครองชีพส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายยิ่งขึ้นเนื่องจากเกรงว่ารายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย สะท้อนได้จากการที่ค่าดัชนี ทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

ส่วน ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาเริ่มส่งผลให้ ภาคการท่องเที่ยว การค้าขาย การลงทุน ผู้ประกอบการรายย่อย/ลูกจ้าง ได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งตัวเลขการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคต (6เดือน) / เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต (6 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง จากการที่ประชาชนมีการชะลอการใช้จ่าย

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 35.9 เป็น 27.9 ภาคกลาง จาก 36.1 เป็น 29.8 ภาคเหนือ จาก 31.5 เป็น 31.4 ภาคตะวันออก จาก 28.7 เป็น 27.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 38.7 เป็น 32.2 และภาคใต้ จาก 26.0 เป็น 25.9 อีกทั้งค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจทั่วทุกภาคได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมทำให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยเพราะไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การค้าขายและการลงทุน อีกทั้ง ชาวนาหลายจังหวัดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าวกับรัฐบาล

ปัญหาต่างๆ ที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             16.4       13.6        13.0            12.4         10.7       10.3         6.8
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        17.1       11.0        12.0            12.0         11.1       12.6         8.6
ภาคกลาง               15.7       14.3        12.2            13.2         11.5        8.0         5.8
ภาคเหนือ               16.6       15.0        13.4            12.7         10.2        8.4         6.4
ภาคตะวันออก            15.7       13.9        13.8            11.8         10.5       12.3         6.1
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    16.3       14.2        13.7            12.5         10.9       10.2         6.1
ภาคใต้                 16.1       13.8        13.1            11.9          9.9       10.1         6.8

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

2. สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่าย

3. ดูแล/แก้ไขปัญหาการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว รวมทั้งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ

ด้านสังคม

1. ลดความขัดแย้งในสังคม

2. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่นและยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะในแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาทางสังคม ลดปัญหาโครงสร้างของแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่

แก้ปัญหาความยากจน กระจายรายได้สู่ชนบท แก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

4. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสงบสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

5. ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้าและระดับล่าง

6. เพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ