รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศประจำเดือนเมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 23, 2014 15:18 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปีฐาน 2555 = 100 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ดัชนีราคาส่งออก ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนีราคานำเข้า ลดลงร้อยละ - 0.4

ดัชนีราคาส่งออกเดือนเมษายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลงแต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นเท่ากัน คือ ร้อยละ + 0.1 จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้า จากตลาดต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามา โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ - 0.1 จากการลดลงของสินค้าหลัก ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่ เนื่องจากปริมาณสินค้าออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการซื้อชะลอตัว สำหรับแนวโน้มราคาส่งออกคาดว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่มากนัก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับดัชนีราคานำเข้าเดือนเมษายน 2557 ปรับลดลง ร้อยละ - 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากสินค้านำเข้าสำคัญได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าในตลาดโลก โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เหล็ก สินแร่โลหะต่างๆ และปุ๋ย ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามทิศทางเดียวกับภาวะราคาสินค้าในตลาดโลกตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มปรับตัวดีขึ้นคาดว่าแนวโน้มราคานำเข้าในระยะต่อไปจะได้รับแรงหนุนในทางบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัว

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนมีนาคม 2557

ปี 2555 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนมีนาคม 2557 เท่ากับ 98.9 และเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เท่ากับ 98.5

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนมีนาคม 2557 เมื่อเทียบกับ

เดือนกุมภาพันธ์ 2557 สูงขึ้นร้อยละ + 0.4

เดือนมีนาคม 2556 ลดลงร้อยละ - 1.4

ไตรมาสที่ 1/2557 (มกราคม-มีนาคม 2557) เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556ลดลงร้อยละ - 1.6

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 สูงขึ้นร้อยละ + 0.4 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงร้อยละ - 0.2) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาส่งออก หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ + 0.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ + 0.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ + 1.1 ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ - 0.5

สินค้าส่งออกหมวดที่ดัชนีราคาสูงขึ้น

ตารางที่ 1

อัตราการเปลี่ยนแปลง
       รายการสินค้า           มี.ค.57/ก.พ.57
       อาหารทะเลกระป๋อง            + 1.1
       อาหารทะเลแปรรูป             + 0.4
       ผลไม้กระป๋อง                 + 0.3
       ผักกระป๋องและแปรรูป           + 0.2
       น้ำตาลทราย                  + 2.6
       ผงปรุงรส                    + 0.7
       เครื่องดื่ม                    + 1.0

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ + 0.9 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงร้อยละ - 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋อง ผักกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย (ราคาปรับสูงขึ้นจากความต้องการของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งยังผลิตน้ำตาลไม่พอต่อความต้องการและต้องนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น) ผงปรุงรส เครื่องดื่ม เนื้อสัตว์และของปรุงแต่ง

ตารางที่ 2
อัตราการเปลี่ยนแปลง

       รายการสินค้า                     มี.ค.57/ก.พ.57
       เครื่องนุ่งห่ม                         + 0.2
       รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ            + 0.8
       รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ           + 1.6
       ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป                   + 1.2
       เครื่องรับวิทยุ                        + 0.4
       เตาอบไมโครเวฟ                     + 0.8
       เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ         + 0.2
       ตู้เย็น ตู้แช่และส่วนประกอบ              + 0.6
       เครื่องซักผ้า                         + 0.6
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  + 0.3
       แผงวงจรไฟฟ้า                       + 1.0

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ + 0.4 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องซักผ้า) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

ตารางที่ 3

อัตราการเปลี่ยนแปลง

       รายการสินค้า           มี.ค.57/ก.พ.57
       ดีบุก                     + 4.3
       แบไรท์                   + 4.6
       น้ำมันดิบ                  + 1.6
       น้ำมันเบนซิน               + 0.5
       น้ำมันดีเซล                + 2.0

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ + 1.1 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงร้อยละ - 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ดีบุก แบไรท์ น้ำมันดิบ น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล

สินค้าส่งออกหมวดที่ดัชนีราคาลดลง
ตารางที่ 4

อัตราการเปลี่ยนแปลง
       รายการสินค้า           มี.ค.57/ก.พ.57
       ข้าว                     - 3.3
       กาแฟ                    - 2.4
       กุ้ง                      - 2.8
       ไก่                      - 0.7

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ - 0.5 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงร้อยละ - 2.8) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าว (ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลเร่งระบายสต๊อกข้าวออกมาทำให้ราคาส่งออกข้าวต่ำลงและปริมาณข้าวในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีการแข่งขันด้านราคาทำให้ราคาปรับลดลงเพื่อการส่งออก) กาแฟ กุ้งและไก่

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนมีนาคม 2556 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ - 1.4 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ - 9.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ - 0.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ - 0.3 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ - 0.8

1.5 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ ไตรมาส 1/2557 (มกราคม-มีนาคม 2557) เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ - 1.6 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออก หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ - 7.8 (ข้าว ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา กาแฟ ใบยาสูบ) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ - 0.5 (น้ำตาลทราย ผักกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว เครื่องดื่ม) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ - 0.9 (ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ) และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ - 1.4 (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันสำเร็จรูป)

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนมีนาคม 2557
ปี 2555 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนมีนาคม 2557 เท่ากับ 97.6 และเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เท่ากับ 97.6

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนมีนาคม 2557 เมื่อเทียบกับ
เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ไม่เปลี่ยนแปลง
เดือนมีนาคม 2556 ลดลงร้อยละ - 1.2
ไตรมาสที่ 1/2557 (มกราคม-มีนาคม 2557) เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556ลดลงร้อยละ - 1.3

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 สูงขึ้นร้อยละ + 0.1) แต่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนี ราคานำเข้าหมวดต่างๆ ดังนี้ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ + 0.3 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ + 0.2 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปและหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งสูงขึ้นเท่ากัน คือ ร้อยละ + 0.1 ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ - 1.1

สินค้านำเข้าหมวดที่ดัชนีราคาสูงขึ้น
ตารางที่ 5

อัตราการเปลี่ยนแปลง

       รายการสินค้า                     มี.ค.57/ก.พ.57
       ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็ก               + 0.2
       ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยอะลูมิเนียม           + 2.7

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ + 0.3 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 สูงขึ้นร้อยละ + 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็ก อลูมิเนียม) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ตารางที่ 6

อัตราการเปลี่ยนแปลง

       รายการสินค้า           มี.ค.57/ก.พ.57
       ท่อหรือหลอด                + 1.0
       แผ่นฟิล์ม ฟอยด์              + 0.6
       ไข่มุก                     + 3.0
       ทองคำ                    + 1.3
       เหล็กกล้า                  + 0.3

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ + 0.1 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 สูงขึ้นร้อยละ + 0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (ท่อหรือหลอด แผ่นฟิล์ม ฟอยด์) ไข่มุก ทองคำและเหล็กกล้า

ตารางที่ 7

อัตราการเปลี่ยนแปลง

       รายการสินค้า           มี.ค.57/ก.พ.57
       ยารักษาโรค              + 0.3
       วิตามิน                  + 0.3
       เครื่องปรับอากาศ          + 0.3
       เครื่องซักผ้า              + 0.6

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ + 0.2 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 สูงขึ้นร้อยละ + 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (ยารักษาโรค วิตามิน) และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า)

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ + 0.1 (เดือนกุมภาพันธ์ 255 สูงขึ้นร้อยละ + 0.6) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

สินค้านำเข้าหมวดที่ดัชนีราคาลดลง

ตารางที่ 8

อัตราการเปลี่ยนแปลง

       รายการสินค้า           มี.ค.57/ก.พ.57
       น้ำมันดีเซล                - 0.2
       น้ำมันเตา                 - 2.4
       น้ำมันหล่อลื่น               - 1.6

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ - 1.1 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงร้อยละ - 0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง คือ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป(น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่น) และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนมีนาคม 2556 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ - 1.2 จากการลดลงของดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ร้อยละ - 1.6หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ - 2.4 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ร้อยละ - 3.4 ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ + 0.3 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ + 0.2

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ ไตรมาสที่ 1/2557 (มกราคม-มีนาคม 2557) เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ - 1.3 จากการลดลงของดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ - 1.1 (น้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม) หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ - 2.9 (ธัญพืช พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ยางรวมทั้งเศษยาง ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ทองคำ เงิน เหล็กและผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย) และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ - 3.7 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์) ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ + 0.4 (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์) และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ + 0.1 (นมและผลิตภัณฑ์นม แว่นตา คอนแทกเลนส์และเลนส์ รองเท้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำร้อน ลำโพง เครื่องซักผ้า ตู้เย็นและตู้แช่)

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0 2507 5802 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ