รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2014 15:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2557 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,381 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 38.4 เดือนพฤษภาคม มีค่า 28.5 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 30.4 เดือนพฤษภาคม มีค่า 21.0 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 43.7 เดือนพฤษภาคม มีค่า 33.6 ซึ่งค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ อย่างไร ก็ตามจากการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน ส่งผลให้ปัญหาทางการเมืองคลี่คลายลง สถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบมากขึ้น โดย คสช. เร่งรัดการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจ/การลงทุน แก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน เร่งจ่ายเงินให้ชาวนาที่มีการค้างชำระจากโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าเป็นเวลา 6 เดือน (มิ.ย.-พ.ย. 57) เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อีกทั้ง กบง. มีมติให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้ง กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี และงบประมาณรายจ่าย มีการขับเคลื่อนเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวแต่เป็นในลักษณะที่เชื่องช้า ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยด้วย

ส่วนความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) และการวางแผนซื้อ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่มี ความเชื่อมั่นฯ สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ส่งผลทางจิตวิทยาให้มี การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แม้ว่าชาวนาจะได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเงินไปชำระหนี้ รวมทั้งราคาสินค้าภาคการเกษตรยังไม่ดีขึ้น ปัญหาค่าครองชีพ อีกทั้งหนี้ ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ล้วนเป็นปัจจัยให้ประชาชนยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ                  ธ.ค. 56        ม.ค. 57       ก.พ. 57         มี.ค. 57       เม.ย. 57       พ.ค. 57       มิ.ย. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม         33.6           29.5          26.7            27.5           29.8          28.5          38.4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ                           ธ.ค. 56   ม.ค. 57   ก.พ. 57   มี.ค. 57   เม.ย. 57    พ.ค. 57    มิ.ย. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน    26.7       22.3      19.8      20.1       23.0       21.0       30.4
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต    38.2       34.3      31.3      32.4       34.3       33.6       43.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                          ธ.ค. 56       ม.ค. 57      ก.พ. 57      มี.ค. 57     เม.ย. 57    พ.ค. 57      มิ.ย. 57
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)        46.9         42.7          40.1         40.2         41.5        41.4        47.9
ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ธ.ค. 56     ม.ค. 57      ก.พ. 57     มี.ค. 57    เม.ย. 57     พ.ค. 57    มิ.ย. 57
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     24.3        22.2        20.2        19.9        22.2        21.6       25.4
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      28.2        27.8        25.2        25.8        26.4        26.3       31.7
ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                 ธ.ค. 56     ม.ค. 57     ก.พ. 57      มี.ค. 57    เม.ย. 57     พ.ค. 57     มิ.ย. 57
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน       58.0        60.0        57.8         53.5        57.0        56.2        58.3
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า        15.5        14.3        13.4         14.6        14.5        14.5        16.8
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน      20.1        18.4        17.6         18.6        19.0        18.8        22.1
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2557 ในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจาก คสช. มีนโยบายเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาที่มีการค้างชำระจากโครงการรับจำนำข้าว เพื่อลดความเดือดร้อนให้ชาวนา รวมทั้ง นโยบายต่างๆที่ทาง คสช. เร่งรัดเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนทำให้สถานการณ์ต่างๆมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งค่าดัชนีฯทุกภาคสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา กล่าวคือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 28.1 เป็น 43.2 ภาคกลาง จาก 32.2 เป็น 36.4 ภาคเหนือ จาก 28.1 เป็น 36.7 ภาคตะวันออก จาก 28.5 เป็น 37.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 29.1 เป็น 38.0 และภาคใต้ จาก 24.9 เป็น 37.6

การอ่านค่าดัชนี ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ดี"
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ไม่ดี"

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเผยแพร่ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1.แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ต้องการให้ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ อาหาร ก๊าซหุงต้ม/น้ำมัน และค่าสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า

2.แก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ เช่น ยางพารา เป็นต้น

3.ช่วยเหลือธุรกิจภาค SMEs ด้านเงินทุนหมุนเวียน

4.ฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว ส่งเสริมนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ด้านสังคม

1.ปราบปรามการทุจริต สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรม ลดปัญหาการโกงกินและคอรัปชั่น

2.ปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติด

3.แก้ไขปัญหาโครงสร้างภาคแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในภาคแรงงาน

4.ส่วนภูมิภาคมีโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

5.จัดการระบบการศึกษาของประเทศ

6.แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ