รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2014 14:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2557

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,172คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 46.1 เดือนกันยายน มีค่า 45.8 โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากประชาชนมีความหวังและความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 50.1 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ที่มีค่า 49.2 จากการที่รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยาง โดยเริ่มทยอยจ่ายเงินให้กับชาวนาเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท และในเดือนหน้าจะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวสวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคายางตกต่ำ ตัวเลขการว่างงานของเดือนตุลาคมปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่าน ราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับลดลงซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 40.2 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายนที่มีค่า 40.6 อีกทั้งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนยังไม่มี ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวมากนัก หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 53.9 สูงกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่มีรายรับเท่าเดิมแต่รายจ่ายปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผู้บริโภคจึงชะลอการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นและสินค้าคงทนประเภทต่างๆ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                  เม.ย. 57      พ.ค. 57        มิ.ย. 57        ก.ค. 57        ส.ค. 57        ก.ย. 57       ต.ค. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม          29.8         28.5           38.4           41.4           44.0           45.8          46.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                          เม.ย. 57      พ.ค. 57      มิ.ย. 57      ก.ค. 57     ส.ค. 57      ก.ย. 57     ต.ค. 57
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)         41.5         41.4         47.9         49.2        50.2         53.3        53.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                     เม.ย. 57     พ.ค. 57     มิ.ย. 57    ก.ค. 57      ส.ค. 57   ก.ย. 57    ต.ค. 57
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                       22.2        21.6        25.4       29.3        30.6       31.2       31.3
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)        26.4        26.3        31.7       33.4        36.6       36.3       37.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    เม.ย. 57     พ.ค. 57     มิ.ย. 57    ก.ค. 57     ส.ค. 57      ก.ย. 57  ต.ค. 57
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน          57.0         56.2        58.3       55.0        55.4        56.6      59.2
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า           14.5         14.5        16.8       16.5        16.6        15.0      16.5
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน         19.0         18.8        22.1       22.0        21.8        20.9      23.1
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2557 หลายภาคที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่มา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 52.6 เป็น 53.3 ภาคกลาง จาก 44.1 เป็น 45.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 49.9 เป็น 50.6 และภาคใต้จาก 30.7 เป็น 32.8 ส่วนภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคเหนือ จาก 47.0 เป็น 46.2 และภาคตะวันออก จาก 47.0 เป็น 44.0 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในหลายภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับ ค่าครองชีพ รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และภัยแล้งที่คาดว่าปีนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าปีที่ผ่านมา จากการที่มีปริมาณน้ำฝนลดลงซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อภาคการเกษตรได้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนระดับล่าง ปัญหาค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น รวมทั้ง ค่าน้ำ/ค่าไฟฟ้า

2. แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำให้มีราคาดีขึ้น เช่น ปาล์มและยางพารา รวมทั้ง ดูแลต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรที่ปรับสูงขึ้น เช่น ค่าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น

3. เร่งอนุมัติดำเนินโครงการต่างๆ เร่งใช้จ่ายงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ของประชาชน

4. สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น

5. ส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมเพื่อให้เกิดการจ้างงานและมีการกระจายรายได้มากขึ้น

ด้านสังคม

1.แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ปราบปรามการทุจริตและการแพร่ระบาดของยาเสพติด

2.แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3.ช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ

4.จัดหางานให้กับผู้ว่างงงาน ปรับเพิ่มเบี้ยคนชรา พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

5.ปรับเงินเดือนข้าราชการให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ

กลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจการค้า

สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

12 พฤศจิกายน 2557

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ