รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 8, 2014 15:55 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2557

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบเกือบสิบปี

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,374 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 44.0 เดือนกรกฎาคม มีค่า 41.4 โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 38.3 เดือนกรกฎาคม มีค่า 35.4 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 47.8 เดือนกรกฎาคม มีค่า 45.4 ซึ่งค่าดัชนีทุกรายการมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะยังต่ำกว่าระดับ 50 ก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่คาดหวังว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้นจากการที่บ้านเมืองมีความสงบโดยการบริหารจัดการของ คสช. เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุนและนักท่องเที่ยว อีกทั้งการลดราคาน้ำมันขายปลีกเบนซินลงช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะราคาลำไยและยางพาราที่ต่ำสุดในรอบหลายปี อีกทั้ง เป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มที่แน่นอนในการฟื้นตัว ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือนและอยู่ในระดับที่ 50.2 ซึ่งสูงกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อคาดหวังที่มีต่อรายได้ใน 3 เดือนข้างหน้า จากการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. รวมทั้งการวางนโยบายต่างๆและการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ที่เป็นไปตามปกติ ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความกังวลในภาวะค่าครองชีพ เพราะสินค้าทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                  ก.พ. 57        มี.ค. 57      เม.ย. 57       พ.ค. 57         มิ.ย. 57       ก.ค. 57       ส.ค. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม         26.7          27.5           29.8           28.5           38.4           41.4          44.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ก.พ. 57      มี.ค. 57    เม.ย. 57    พ.ค. 57     มิ.ย. 57      ก.ค. 57     ส.ค. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน      19.8         20.1        23.0       21.0        30.4         35.4        38.3
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต       31.3        32.4        34.3       33.6        43.7         45.4        47.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                          ก.พ. 57      มี.ค. 57     เม.ย. 57     พ.ค. 57      มิ.ย. 57     ก.ค. 57     ส.ค. 57
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)        40.1         40.2         41.5        41.4         47.9        49.2        50.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                  ก.พ. 57     มี.ค. 57    เม.ย. 57     พ.ค. 57      มิ.ย. 57    ก.ค. 57     ส.ค. 57
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                   20.2        19.9        22.2        21.6         25.4       29.3        30.6
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)    25.2        25.8        26.4        26.3         31.7       33.4        36.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                  ก.พ. 57      มี.ค. 57    เม.ย. 57     พ.ค. 57     มิ.ย. 57     ก.ค. 57    ส.ค. 57
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        57.8         53.5        57.0        56.2        58.3        55.0       55.4
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.4         14.6        14.5        14.5        16.8        16.5       16.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า     17.6         18.6        19.0        18.8        22.1        22.0       21.8
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2557 ในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้น (ยกเว้นภาคใต้) เนื่องจาก การที่บ้านเมืองมีความสงบประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งนโยบายต่างๆรวมทั้ง การบริหารประเทศของ คสช. ทำให้ประชาชนมีความหวัง กล่าวคือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 49.7 เป็น 49.8 ภาคกลาง จาก 42.2 เป็น 45.0 ภาคเหนือ จาก 34.7 เป็น 41.2 ภาคตะวันออก จาก 44.5 เป็น 45.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 39.8 เป็น 47.5 ส่วนภาคใต้ปรับตัวลดลงจาก 39.3 เป็น 33.0 เนื่องจากราคายางพาราที่ต่ำสุดในรอบหลายปี ส่งผลให้ชาวสวนยางพาราบางรายต้องตัดต้นยางทิ้ง อีกทั้งฝนตกหนักน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในภาคใต้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจโดยรวม บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น อาหาร ก๊าซ/น้ำมัน และค่าไฟฟ้า

2. ลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรกรรม แก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา

3. แก้ไขเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและมีนโยบาย/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว

ด้านสังคม

1.ปราบปรามการทุจริต แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น

2.แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด

3.แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4.ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ดีขึ้น แก้ไขปัญหาการว่างงาน จัดอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพ

5.แก้ไขปัญหาหนี้สิน ปัญหาเงินกู้นอกระบบ

6.ดูแลสวัสดิการของผู้สูงอายุ

กลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจการค้า

ศูนย์ดัชนีและพยากรณ์เศรษฐกิจการค้า

8 กันยายน 2557

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ