ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2015 10:43 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปีฐาน 2555 = 100 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.7

ดัชนีราคาส่งออกเดือนเมษายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกในหมวดสินค้าต่างๆ ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.8 0.5 และ 0.1 ตามลำดับ สาเหตุหลักเป็นผลจากการลดลงของราคาข้าว ยางพารา กุ้ง ไก่ น้ำตาลทราย และน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อสินค้าชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับมีการปรับลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของราคาเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางและทองคำ ซึ่งเป็นผลจากวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องที่ใช้ในกระบวนการผลิต ราคาปรับสูงขึ้น สำหรับราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ ส่งผลให้การบริโภคทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยกลับมามีความต้องการเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคานำเข้าเดือนเมษายน 2558 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ในตลาดโลก ได้แก่ แผนชะลอการลงทุนขุดเจาะและปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าทุนและหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคานำเข้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งยังปรับลดลง

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนเมษายน 2558

ปี 2555 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนเมษายน 2558 เท่ากับ 97.0 และเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 97.0

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนเมษายน 2558 เมื่อเทียบกับ

          เดือนมีนาคม  2558           ไม่เปลี่ยนแปลง
          เดือนเมษายน  2557           ลดลงร้อยละ  1.9

เฉลี่ยมกราคม-เมษายน 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 1.8

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมีนาคม 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) แต่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.5 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ 0.2

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลง

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 (เดือนมีนาคม 2558ลดลงร้อยละ 0.5) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                          ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
ข้าว                                          -2.6
ยางพารา                                      -0.4
ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง                      -0.2
กุ้ง                                           -1.6
ไก่                                           -0.5

สินค้ากสิกรรมลดลงร้อยละ 0.9 จากการลดลงของราคาข้าวร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวด้านราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ประกอบกับปริมาณสต๊อกข้าวยังมีอยู่มาก ยางพาราลดลงร้อยละ 0.4 จากการชะลอการนำเข้าของประเทศจีนตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปริมาณสต๊อกยางพารายังมีเหลือเพียงพอ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งลดลงร้อยละ 0.2 สินค้าประมงลดลงร้อยละ 0.6 จากราคากุ้งลดลงร้อยละ 1.6 เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งอินโดนีเซียและอินเดีย รวมทั้งกรณีสหภาพยุโรป (EU) ออกประกาศให้ใบเหลืองเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายแก่ไทย ทำให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง และสินค้าปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 0.5 จากราคาไก่ลดลงร้อยละ 0.5

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.5 (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                       ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
น้ำตาลทราย                                                 -3.2
น้ำผลไม้                                                    -0.3
เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์                            -0.5

น้ำตาลทรายลดลงร้อยละ 3.2 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังไม่มีการปรับตัวสูงขึ้น สินค้าอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำผลไม้ลดลงร้อยละ 0.3 เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ลดลงร้อยละ 0.5 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนมีนาคม 2558 สูงขึ้นร้อยละ 2.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า          ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
น้ำมันสำเร็จรูป                - 0.1

น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 0.1 (น้ำมันเบนซิน) ซึ่งเป็นการปรับลดลงเพียงเล็กน้อย

ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เดือนมีนาคม 2558 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง) มีดังนี้

รายการสินค้า                                          ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
เคมีภัณฑ์อินทรีย์                                                   1.7
เม็ดพลาสติก                                                     1.1
ทองคำ                                                         0.7
หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด                                    0.6
แผงวงจรไฟฟ้า                                                   0.3
ผลิตภัณฑ์ยาง                                                     0.3
ยานพาหนะ อุปกรณ์และการขนส่ง                                      0.2
เครื่องใช้ไฟฟ้า                                                   0.1

สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์) เม็ดพลาสติกสูงขึ้นร้อยละ 1.1 (เอทิลีน โพรพิลีน สไตรีน ไวนิลคลอไรด์) ทองคำร้อยละ 0.7 จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่ปรับขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคทองคำปรับตัวสูงขึ้น ยานพาหนะ อุปกรณ์และการขนส่งสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (รถยนต์/รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ) ผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้นร้อยละ 0.3 เครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เครื่องพักกระแสไฟฟ้า เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า) หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดสูงขึ้นร้อยละ 0.6

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนเมษายน 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 9.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.9 หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.3 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 1.3

1.5 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม-เมษายน 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10.5 หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.4 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.4

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนเมษายน 2558

ปี 2555 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนเมษายน 2558 เท่ากับ 87.3 และเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 86.7

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนเมษายน 2558 เมื่อเทียบกับ

          เดือนมีนาคม  2558            สูงขึ้นร้อยละ   0.7
          เดือนเมษายน  2557           ลดลงร้อยละ   10.2

เฉลี่ยมกราคม-เมษายน 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 10.7

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 0.6) เป็นการปรับสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นร้อยละ 3.4 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นร้อยละ 0.1 สำหรับหมวดสินค้าทุนและหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 3.4 (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 0.5) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
น้ำมันดิบ                   6.5
น้ำมันเบนซิน                4.4
น้ำมันดีเซล                 1.4

น้ำมันดิบสูงขึ้นร้อยละ 6.5 น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล) โดยราคานำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่เริ่มส่งสัญญาณลดลงจากแผนชะลอการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันในช่วงต้นปีที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกาและปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า                                 ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์                       0.6
ยารักษาโรค                                            0.2

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.5 (เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (ยารักษาโรค)

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 0.2) อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคานำเข้าของกลุ่มสินค้าต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

รายการสินค้า                                            ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
เครื่องจักรไฟฟ้าอื่นๆและส่วนประกอบ                                    0.3
เครื่องมือ เครื่องใช้ทำด้วยโลหะสามัญ                                   0.6
เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ                              0.1
เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์                                         -0.2
มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและส่วนประกอบ                        -0.1

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 1.0) อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคานำเข้าของกลุ่มสินค้าต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

รายการสินค้า                                        ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
ทองคำ                                                      2.2
เคมีภัณฑ์อินทรีย์                                                1.5
เม็ดพลาสติก                                                  0.6
สารปรุงแต่งที่ใช้หล่อลื่นหรือเป็นตัวทำละลาย                           0.3
เหล็ก                                                        -1
เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ                               -2.7
ปุ๋ย                                                        -2.3

กลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำสูงขึ้นร้อยละ 1.6 (ทองคำ) โดยราคาทองคำได้รับปัจจัยลบจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อ่อนแอลงทั้งในภาคการผลิตและตลาดแรงงาน กระตุ้นให้การถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เคมีภัณฑ์สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เม็ดพลาสติก สารปรุงแต่งที่ใช้หล่อลื่นหรือเป็นตัวทำละลาย) เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งราคาปรับสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 1.3 (เหล็ก เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ) เนื่องจากยังคงมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่ในตลาดโลก ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ลดลงร้อยละ 1.7 (ปุ๋ย)

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนมีนาคม 2557 ลดลงร้อยละ 0.7) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                        ร้อยละ (เม.ย.58/มี.ค.58)
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง                       -0.1
ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ                                       -0.2

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ลดลงร้อยละ 0.1 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ)

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนเมษายน 2557

ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.2 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 36.4 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 4.2 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 5.9

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม-เมษายน 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.7 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 39.3 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.2 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 3.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 0.9 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 5.3

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ