รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2015 11:32 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2558 ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,287 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 38.8 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ที่มีค่า 40.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 32.5 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 34.1 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 42.9 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 44.0 จากการที่ค่าดัชนี ทุกรายการปรับตัวลดลงและมีค่าต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าสงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากบ้านเมืองมีความสงบ แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยกลับได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป จีนและญี่ปุ่น และปัจจัยลบจากปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง น้ำมันขายปลีกหลายรายการปรับขึ้นราคา ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเตรียมรับมือกับรายจ่ายต่างๆในช่วงใกล้เปิดภาคการศึกษาใหม่ของบุตรหลาน ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง หลายพื้นที่เกิดพายุฤดูร้อนสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้ง เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนผ่านโครงการต่างๆ ทั้งนี้ กนง. ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นการปรับลดลง 2 ครั้งติดต่อกันของปีนี้ เพื่อลดแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 47.0 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2 อีกทั้งค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) รวมทั้ง ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประชาชนไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคต จึงระมัดระวังการใช้จ่ายและใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                  ต.ค. 57      พ.ย. 57       ธ.ค. 57        ม.ค. 58        ก.พ. 58        มี.ค. 58      เม.ย. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม         46.1         44.2          44.2           43.3           42.4           40.0          38.8

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                           ต.ค. 57      พ.ย. 57     ธ.ค. 57      ม.ค. 58     ก.พ. 58      มี.ค. 58    เม.ย. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     40.2         38.6        38.7         38.7        36.8         34.1        32.5
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     50.1         47.9        47.8         46.5        46.1         44.0        42.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                          ต.ค. 57      พ.ย. 57      ธ.ค. 57      ม.ค. 58      ก.พ. 58     มี.ค. 58    เม.ย. 58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)        53.9         52.8         52.2         50.4         50.9        49.5        47.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   ต.ค. 57      พ.ย. 57     ธ.ค. 57     ม.ค. 58     ก.พ. 58      มี.ค. 58     เม.ย. 58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    31.3         29.4        29.2        27.6        27.5         25.6         24.2
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     37.2         33.9        33.9        32.0        31.8         30.6         31.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                  ต.ค. 57      พ.ย. 57      ธ.ค. 57     ม.ค. 58     ก.พ. 58     มี.ค. 58     เม.ย. 58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        59.2         61.1        62.4        60.0         62.4        61.7         59.8
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         16.5         13.6        14.6        15.2         13.0        14.6         14.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       23.1         21.5        19.6        21.4         19.0        22.0         19.8
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2558 หลายภาคปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 43.0 เป็น 39.6 ภาคเหนือ จาก 42.5 เป็น 41.3 ภาคตะวันออก จาก 38.9 เป็น 30.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 42.2 เป็น 41.8 ส่วนภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ภาคกลาง จาก 42.5 เป็น 42.7 และภาคใต้จาก 28.3 เป็น 31.1 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การอ่านค่าดัชนี ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ดี"
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ไม่ดี"

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ