จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 131 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2558 เท่ากับ 120.5 และเดือนมิถุนายน 2558 เท่ากับ 121.3 (ปี 2548 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.7
2.2 เดือนกรกฎาคม 2557 ลดลงร้อยละ 5.3
2.3 เฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม 2558) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.2
3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2558 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.7(เดือนมิถุนายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.2)
หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้นและลดลง อัตราการเปลี่ยนแปลง ก.ค.58 เทียบกับ มิ.ย.58 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์ +.8 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต -0.2 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก -2.0 หมวดกระเบื้อง ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุฉาบผิว ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา -1.3 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ -0.5
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.2 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตหยาบ) เนื่องจากภาวะการค้าซบเซา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.0 (เหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ) เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงตามราคาวัตถุดิบได้แก่ บิลเล็ต สินแร่เหล็ก และราคาในตลาดโลกลดลง ประกอบกับสต๊อกเหล็กที่มาจากจีนยังมีปริมาณสูง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.3 (สายไฟ ท่อร้อยสายไฟ) เนื่องจากวัตถุดิบ คือเม็ดพลาสติกราคาลดลงตามราคาปิโตรเลียม และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.5 (หินย่อย หินคลุก ดินถมที่ ดินลูกรัง ทรายหยาบ ทรายละเอียด ยางมะตอย) เนื่องจากผู้ประกอบการลดราคาเพื่อระบายสินค้า สำหรับยางมะตอยลดลงตามราคาปิโตรเลียม หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดซิเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) ผู้ประกอบการให้ส่วนลดน้อยลง หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ การก่อสร้างภาคเอกชนชะลอตัวเล็กน้อยจากการที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์
4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2558 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 ลดลงร้อยละ 5.3 (เดือนมิถุนายน 2558 ลดลงร้อยละ 4.6)
หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้นและลดลง อัตราการเปลี่ยนแปลง ก.ค.58 เทียบกับ ก.ค.57 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ +0.7 หมวดซีเมนต์ -3.0 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต -0.8 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก -15.9 หมวดกระเบื้อง ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุฉาบผิว ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา -5.5 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ -2.1
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 3.0 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.8 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 15.9 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 5.5 และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 2.1 เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานลดลง และวัตถุดิบราคาลดลงตามราคาปิโตรเลียม และราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงตามราคาวัตถุดิบ อีกทั้งปริมาณเหล็กในตลาดโลกมีมาก หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้น ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.7 หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ เนื่องจากภาวะการก่อสร้างชะลอตัว เป็นผลจากผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอการลงทุนโครงการใหม่
5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ย มกราคม - กรกฎาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.2 หมวดดัชนีที่ปรับตัวสูงขึ้นและลดลงมีดังนี้
หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้นและลดลง อัตราการเปลี่ยนแปลง ม.ค.-ก.ค.58 เทียบกับ ม.ค.-ก.ค.57 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ +1.4 หมวดซีเมนต์ -3.5 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต -0.4 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก -12.9 หมวดกระเบื้อง +0.1 หมวดวัสดุฉาบผิว ไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ -0.1 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา -5.2 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ -0.4
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 3.5 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.4 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 12.9 หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 5.2 และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากต้นทุนลดลงตามราคาปิโตรเลียม และราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้น ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.4 หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 เนื่องจากต้นทุนประกอบการ เช่น วัตถุดิบ ค่าดำเนินการ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับหมวดวัสดุฉาบผิวดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการก่อสร้างชะลอตัว
แนวโน้มการก่อสร้างคาดว่าจะดีขึ้นจากการเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน การเร่งลงทุนในโครงการที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ เช่นรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการจะมีการปรับตัวในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่มีแนวโน้มดี
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825