รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2015 09:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยสรุปดังนี้

จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิต จำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 596 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2558

ในปี 2553 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2558 ดัชนีราคาเท่ากับ 101.8 และเดือนตุลาคม 2558 ดัชนีราคาเท่ากับ 102.2

2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเทียบกับ

             2.1 เดือนตุลาคม 2558          ลดลงร้อยละ 0.4 (-0.4)

2.2 เดือนพฤศจิกายน 2557 ลดลงร้อยละ 3.0 (-3.0)

2.3 เฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม – พฤศจิกายน 2558) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม – พฤศจิกายน 2557) ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 4.2 (-4.2)

3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2558 เทียบกับเดือนตุลาคม 2558 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.7 และ 0.3 ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.2

สินค้าผู้ผลิตหมวดที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นและลดลง

ตารางที่ 1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม

อัตราการเปลี่ยนแปลง
รายการสินค้า         พ.ย.58 / ต.ค.58
ข้าวเปลือกเจ้านาปี          -2.7
ข้าวเปลือกเหนียว           -4.1
หัวมันสำปะหลังสด           -3.2
น้ำยางข้น                 -8.4
ยางแผ่นดิบ                -8.2
เศษยาง                  -6.0
แตงกวา                 -11.2
มะเขือ                  -19.7
มะเขือเทศ                -5.6
ข้าวโพดฝักอ่อน             -0.8
พริกสด                   -7.2
กะหล่ำปลี                -15.3
ผักคะน้า                 -38.1
ผักกาดขาว                -5.3
ผักกาดหอม               -38.2
ผักบุ้ง                   -11.5
ถั่วฝักยาว                -16.5
ต้นหอม                  -20.3
ผักชี                    -38.9
ผักกาดหัว                -10.1
ผักคื่นฉ่าย                -17.1
กะหล่ำดอก                -5.0
ผักกวางตุ้ง               -16.3
ฟักทอง                   -8.1
เห็ด                     -2.0
บวบ                    -16.4
มะระจีน                  -8.0
องุ่น                     -5.8
ส้มเขียวหวาน              -7.4
ขิง                      -6.8
สุกรมีชีวิต                 -3.1
ไก่มีชีวิต                  -4.3
ไข่ไก่                    -2.2
ไข่เป็ด                   -1.5
ผลปาล์มสด               +10.9
มะพร้าวผล               +35.6
ปลาช่อน                  +2.9
ปลาดุก                   +1.4
ปลาตะเพียน               +3.0
ปลานิล                   +0.4
ปลาอินทรี                 +4.0
ปลากะพง                 +1.0
ปลาจาระเม็ด              +2.3
กุ้งทะเล                  +3.6
กุ้งแวนนาไม               +3.1
ปลาหมึกกล้วย              +9.7
หอยนางรม                +2.2
หอยลาย                  +8.9
หอยแมลงภู่                +4.5
หอยแครง                 +4.1

3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.7 (เดือนตุลาคม 2558 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าเกษตรสำคัญที่มีราคาลดลง คือ ผลผลิตการเกษตร ข้าวเปลือกเจ้า ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปีและข้าวเปลือกเหนียว ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับในบางพื้นที่ฝนตกช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว ทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง พืชไร่ ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ยางพารา ได้แก่ น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบและเศษยาง ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก พืชผัก ได้แก่ แตงกวา มะเขือ มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน พริกสด กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ผักกาดหัว ผักคื่นฉ่าย กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง ฟักทอง เห็ด บวบและมะระจีน ผลไม้ ได้แก่ องุ่นและส้มเขียวหวาน เครื่องเทศ ได้แก่ ขิง เนื่องจากภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด สภาพอากาศที่เย็นลงทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ผลปาล์มสด ความต้องการมีมากขึ้นจากกระทรวงพลังงานเร่งให้ผู้ผลิตไบโอดีเซลรับซื้อน้ำมันปาล์มเก็บเข้าสต็อกมากขึ้น มะพร้าวผล ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาอินทรี ปลากะพง ปลาจาระเม็ด กุ้งทะเล กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย หอยนางรม หอยลาย หอยแมลงภู่และหอยแครง

ตารางที่ 2 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

อัตราการเปลี่ยนแปลง

รายการสินค้า                 พ.ย.58 / ต.ค.58
น้ำมันเบนซิน  แก๊สโซฮอล 95          -3.4
น้ำมันเบนซิน  แก๊สโซฮอล 91          -5.6
น้ำมันดีเซล                        -1.5
น้ำมันเตา                         -1.9
น้ำมันก๊าด                         -3.0
ยางแผ่นรมควัน                     -7.9
ยางแท่ง                          -4.2
เหล็กฉาก                         -2.7
ลวดแรงดึงสูง                      -0.6
เนื้อสุกร                          -1.7
ไก่สด                            -0.5
ข้าวสารเจ้า                       -0.7
ข้าวนึ่ง                           -0.5
รำข้าวขาว                        -2.3
ด้ายฝ้าย                          -2.0
กระสอบปอ                        -0.9
กระเป๋าหนัง                       -0.6
ทองคำและเครื่องประดับ              -2.5
น้ำตาลทรายดิบ                     +4.4
ไม้ยางพารา                       +0.7
กระดาษพิมพ์เขียน                   +0.8
กล่องกระดาษ                      +0.1
แผงวงจรไฟฟ้า                     +1.3

3.2 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 (เดือนตุลาคม 2558 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีราคาลดลง คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาและน้ำมันก๊าด ตามภาวะตลาดโลก ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมทั้งสต็อกยางที่มีอยู่ระดับสูง โลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กฉาก ลวดเหล็กและลวดแรงดึงสูง สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง รำข้าวขาว ด้ายฝ้าย กระสอบปอ กระเป๋าหนัง ทองคำและเครื่องประดับ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ ไม้ยางพารา กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษและแผงวงจรไฟฟ้า

ตารางที่ 3 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง

อัตราการเปลี่ยนแปลง
รายการสินค้า          พ.ย.58 / ต.ค.58
ก๊าซธรรมชาติ (NG)          +4.8
หินปูน                    +35.8

3.3 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.2 (เดือนตุลาคม 2558 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.0) สาเหตุที่สำคัญจากการสูงขึ้นของราคา ก๊าซธรรมชาติ (NG) ตามภาวะราคาตลาดโลก หินปูน ปรับราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

4. พิจารณาดัชนีราคาเดือนพฤศจิกายน 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 ลดลงร้อยละ 3.0 สาเหตุจากการลดลงของหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.6 ตามการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตรร้อยละ 1.2 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ร้อยละ 4.2 ปลาและสัตว์น้ำร้อยละ 9.9 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 3.6 ตามการลดลงของราคาหมวดผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบร้อยละ 0.3 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมร้อยละ 24.4 เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมีร้อยละ 3.3 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกร้อยละ 4.4 ผลิตภัณฑ์อโลหะร้อยละ 0.1 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะร้อยละ 4.1 เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 2.0 ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิงทอร้อยละ 0.5 หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้าร้อยละ 0.4 ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ร้อยละ 0.5 เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ร้อยละ 3.2 เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ร้อยละ 0.2 สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ร้อยละ 3.2 ส่วน หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.4 ตามการสูงขึ้นของลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติร้อยละ 6.0 แร่โลหะและแร่อื่นๆ ร้อยละ 5.1

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 4.2 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของราคาสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ร้อยละ 3.3 ปลาและสัตว์น้ำร้อยละ 6.6 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.4 ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติร้อยละ 1.8 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดัชนีราคาลดลงร้อยละ 5.0 ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบร้อยละ 0.7 สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอร้อยละ 0.1 หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้าร้อยละ 0.4 ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ร้อยละ 0.1 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมร้อยละ 28.1 เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมีร้อยละ 3.4 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกร้อยละ 5.8 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะร้อยละ 3.5 เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 2.4 สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆร้อยละ 0.3

ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2558 ยังคงปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าหมวดผลผลิตเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวเปลือก พืชผักและผลไม้ สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับราคาเหล็กที่ลดลงตามการแข่งขันสูงด้านราคากับเหล็กที่นำเข้าจากจีน และคาดว่าแนวโน้มในระยะต่อไป ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศยังคงชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพารา ราคายังเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ