รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 15:48 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2558

ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สร้างความกังวลแก่ผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2558 (ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 1- 15 ธันวาคม 2558) จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,441 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 37.2 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่มีค่า 37.6 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 42.0 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 42.9 ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 30.1 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 29.6 โดยค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้ง สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอและมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย แม้ว่า รัฐบาลจะมีแผนรองรับ 8 มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมาตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีความรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ รวมทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาสินค้าภาคการเกษตรยังไม่ฟื้นตัว หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และภาครัฐมีมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ พร้อมทั้งเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แม้ว่าจะเป็นในลักษณะที่ค่อยปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะยังไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและภัยธรรมชาติ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     38.9     33.7     34.6     35.4     36.2     37.6     37.2

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                            มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     32.5     27.5     28.5     28.4     27.7     29.6     30.1
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     43.2     37.8     38.7     40.0     42.0     42.9     42.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     47.8     43.5     44.9     45.9     48.3     49.2     47.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    26.2     22.1     21.5     22.3     21.4     23.8     24.2
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     31.4     26.8     25.9     27.5     27.6     29.2     29.3

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        59.0     56.0     58.9     52.9     53.8     54.4     56.0
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         16.4     14.0     13.4     12.7     13.0     13.0     14.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       20.7     20.2     19.3     19.7     19.7     20.6     20.8
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2558 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ ภาคกลาง จาก 39.4 เป็น 40.9 และภาคใต้จาก 25.7 เป็น 28.9 ส่วนภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 41.1 เป็น 37.7 ภาคเหนือ จาก 38.4 เป็น 38.2 ภาคตะวันออก จาก 31.8 เป็น 31.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 42.2 เป็น 41.3 โดยค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะมีไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรและเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งยัง สร้างความเสียหายแก่พืชผลการเกษตรและฉุดกำลังซื้อในกลุ่มเกษตรกร ส่วนภาคใต้มีฝนตกลดลงซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ แต่ทั้งนี้ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องและสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาปากท้องและความยากจนของประชาชน ควบคุมการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

2. อัดฉีดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นฯและมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

3. ดูแลราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนระดับกลางถึงระดับล่างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

4. เร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งการเบิกจ่ายเงินโครงการต่างๆ

5. ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ

6. จัดทำแผนการตลาดเพื่อส่งเสริมการส่งออก

7. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นให้ลดลง

2. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาเยาวชน

3. ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ และตอบสนองตลาดแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว

4. ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนต่างๆ สร้าง/ปรับปรุงสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น ถนน ไฟฟ้าและน้ำประปา เพื่อให้ชุมชนมีความปลอดภัยมากขึ้น

5. แก้ปัญหาภัยแล้ง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายและขายไม่ได้ราคา

6. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ