ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 15:37 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2559 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นไปตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่มีอยู่มาก ขณะที่ความต้องการชะลอตัว จากผลเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน สำหรับดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2559 เทียบกับเดือนมกราคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 เป็นผลมาจากสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลกเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเกิดจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาด

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 94.3 (ปี 2555 = 100) และเทียบกับเดือนมกราคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.8 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาส่งออกในเดือนนี้ คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็งกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

เมื่อเทียบเดือนธันวาคม 2558 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 (MoM) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับลดราคาในหมวดสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปจากภาวะปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาด และความต้องการใช้ที่ชะลอตัว สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป จากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในสินค้าเกษตร และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2559 เทียบกับเดือนมกราคม 2558 (ปี 2555 = 100) ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 (YoY) ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ สินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก ทองคำ สินแร่โลหะต่างๆ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

เมื่อเทียบเดือนธันวาคม 2558 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.4 (MoM) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาสินค้านำเข้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และเชื้อเพลิงอื่นๆ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาในตลาดโลกจากภาวะอุปทานส่วนเกินขณะที่ความต้องการใช้กลับชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 94.3 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 94.7) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 79.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 97.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 97.6 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 74.9

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนธันวาคม 2558 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

สินค้าส่งออกสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาส่งออก ได้แก่ สินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ จากราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ปรับลดลงตามปริมาณน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด นอกจากนั้น สินค้าอื่นๆ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็งจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อชะลอตัว เช่นเดียวกับสินค้าเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงประกอบกับมีการปรับลดราคาเพื่อการแข่งขันทางการค้า

2.2 เดือนมกราคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกยังคงปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับ ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำไม่น่าสนใจและส่งผลให้ราคาทองคำลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 79.8 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 80.9) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 39.8 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 96.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 87.9 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 98.3 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 88.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนธันวาคม 2558 (MoM) ลดลงร้อยละ 1.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

สินค้านำเข้าสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคานำเข้า ได้แก่ สินค้าในหมวดเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป มีการเคลื่อนไหวของราคาตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ยังมีภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดและความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันที่อาจจะปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว นอกจากนั้น ยังมีสินค้านำเข้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอย่างเคมีภัณฑ์ที่ปรับลดลงตาม และสินค้าในกลุ่มเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะต่างๆ ที่ปรับลดลงจากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการใช้ชะลอตัวลง

2.2 เดือนมกราคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 8.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคานำเข้าปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค และเครื่องสำอาง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าในตลาดโลก อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการใช้ชะลอตัว นอกจากนี้ ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและส่งผลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำไม่น่าสนใจและส่งผลให้ราคาทองคำลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ