รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 2, 2016 15:57 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2559

ประชาชนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง แนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกที่ยังไม่ชัดเจน

รวมทั้ง ความวิตกเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,328 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 35.8 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2559 ที่มีค่า 36.0 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 29.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 29.8 ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 39.7 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 40.0 โดยค่าดัชนียังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่แนวโน้มการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน กอปรกับสถานการณ์ภัยแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง น้ำมันขายปลีกหลายรายการปรับขึ้นราคา รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของบุตรหลาน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ได้จัดงาน "เทใจคืนสุข ต้อนรับเปิดเทอม" เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โครงการธงฟ้าที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงสงกรานต์ทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นและมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 44.2 ปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 45.5 โดยมีปัจจัยมาจากการที่ภาคเอกชนหลายแห่งปรับลดการจ้างงานล่วงเวลา การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มี ความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.8 ซึ่งปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ของรัฐบาล ทำให้ประชาชนทั่วไปมีการจับจ่ายมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     36.2     37.6     37.2     36.4     38.1     36.0      35.8

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     27.7     29.6     30.1     30.9     32.0     29.8      29.9
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     42.0     42.9     42.0     40.0     42.2     40.0      39.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     48.3     49.2     47.8     45.1     47.7     45.5      44.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    21.4     23.8     24.2     25.4     26.9     25.0      25.2
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     27.6     29.2     29.3     28.7     31.0     28.7      29.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        53.8     54.4     56.0     55.3     53.0     51.2      56.8
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.0     13.0     14.6     12.8     13.3     12.1      13.9
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       19.7     20.6     20.8     19.5     21.6     20.7      22.2
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2559 ภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคกลาง จาก 41.5 เป็น 40.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 37.9 เป็น 34.9 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ ภาคตะวันออก จาก 30.6 เป็น 35.6 และภาคใต้จาก 25.5 เป็น 27.3 แต่มี 2 ภาค ที่ดัชนีเท่ากับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 39.2 และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 36.2 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังกังวลและยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก สถานการณ์ภัยแล้งและอากาศที่ร้อนจัด ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนบ้านเรือนได้รับความเสียหายจาก พายุฤดูร้อน ส่วนภาคตะวันออก ทุเรียน เงาะ มังคุด ผลผลิตต่อไร่มีจำนวนน้อย แต่ทุเรียนได้รับความนิยมสูง ส่งผลให้ผลไม้ของภาคตะวันออกในช่วงนี้มีราคาดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคที่จำเป็นให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน

2. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

3. ส่งเสริมการส่งออก และสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านสังคม

1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐ

2. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

3. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม

4. แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า หนี้ภาคครัวเรือน และหนี้นอกระบบ

5. พัฒนาระบบการศึกษา สร้างเยาวชนให้มีศักยภาพเพื่อพัฒนาประเทศ

6. แก้ไขปัญหาภัยแล้ง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

7. ลดปัญหาการว่างงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

8. ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละภาคมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ