รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 22, 2016 16:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2559

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ปัญหาภัยแล้งรุนแรง/พายุฤดูร้อน ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นฯ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,467 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 35.5 ปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ที่มีค่า 35.8 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 29.9 ซึ่งเท่ากับเดือนที่ผ่านมา ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 39.3 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 39.7 โดยค่าดัชนีทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย กอปรกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณลดลง แม้ว่าจะเริ่มมีฝนตกและปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลงแล้วในบางพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำยังคงมีไม่เพียงพอต่อ ภาคการเกษตร ทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสและรายได้ หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากการที่ราคาน้ำมันขายปลีกหลายรายการปรับสูงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี ออกไปอีก 6 เดือน ( 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม 2559 ) รวมทั้ง ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2559 ปรับลดลง 33.29 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 44.1 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 44.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงบริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามลดต้นทุนโดยการปรับลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานเพื่อรักษาเสถียรภาพขององค์กร ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 55.4 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 56.8 เนื่องจาก เดือนที่ผ่านมาประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อการท่องเที่ยว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2559
รายการ               พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     37.6     37.2     36.4     38.1     36.0      35.8     35.5

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม  2559
รายการ                            พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     29.6     30.1     30.9     32.0     29.8      29.9     29.9
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     42.9     42.0     40.0     42.2     40.0      39.7     39.3

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     49.2     47.8     45.1     47.7     45.5      44.2     44.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59  พ.ค.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    23.8     24.2     25.4     26.9     25.0      25.2    25.3
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     29.2     29.3     28.7     31.0     28.7      29.5    30.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59  พ.ค.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        54.4     56.0     55.3     53.0     51.2      56.8    55.4
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.0     14.6     12.8     13.3     12.1      13.9    11.9
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       20.6     20.8     19.5     21.6     20.7      22.2    22.4
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2559 ภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 39.2 เป็น 35.3 ภาคเหนือ จาก 36.2 เป็น 33.7 และภาคใต้จาก 27.3 เป็น 26.6 ส่วนภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ ภาคกลาง จาก 40.4 เป็น 42.9 ภาคตะวันออก จาก 35.6 เป็น 35.9 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 34.9 เป็น 38.9 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความกังวลและยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงยังส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและรายได้ของเกษตรกร แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน เกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำยังคงมีไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ราคายางพาราได้รับปัจจัยกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อีกทั้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่นำเข้ายางรายใหญ่ของโลก

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคที่จำเป็นให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน

2. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร

3. ปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุน

4. เร่งการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเกิดความมั่นคงและยั่งยืน

5. กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

6. ประเมินผลจากมาตรการต่างๆ เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น สร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักการเมือง

2. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด เพื่อลดการเกิดอาชญากรรม

3. แก้ไขปัญหาความยากจน ลดปัญหาการว่างงาน หนี้ภาคครัวเรือน/หนี้นอกระบบของประชาชนที่มีรายได้น้อย

4. เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคงของประเทศ

5. บริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ