ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน มิถุนายน 2559 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 14:49 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.38 (YoY) เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับสูงขึ้น อาทิ ผักสดและผลไม้สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากอุปทานในตลาดลดลง ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ผลกระทบสะสมของราคาน้ำมันและพลังงานในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และค่ากระแสไฟฟ้าในหมวดเคหสถานยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวในระดับต่ำ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมิถุนายน 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ 100) เท่ากับ 107.05 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 สูงขึ้น ร้อยละ 0.38 (YoY) จากการสูงขึ้นของ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.99 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ผักสด อาทิ พริกสด กะหล่ำปลี หัวหอมแดง 2) อาหารบริโภคในบ้าน อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง 3) เนื้อสุกร 4) ไข่ไก่ (ผลกระทบร้อยละ 0.36, 0.13, 0.06, และ 0.06 ตามลำดับ) 2) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จากผลสะสมของปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือนก.พ.59 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.17 3) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล จาก 1) ค่าเบี้ยประกันชีวิต (ผลกระทบร้อยละ 0.01) 2) ค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม อาทิ ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี (ผลกระทบร้อยละ 0.02) 3) ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน (ผลกระทบร้อยละ 0.01) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงกดดันจาก 1) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และก๊าชยานพาหนะ (LPG) ส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ -0.58 ลดลงจากระยะ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม 2) หมวดเคหสถาน อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.35

เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่ากับร้อยละ 0.03 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (ผลกระทบร้อยละ 0.06) อาทิ น้ำมันดีเซล 2) หมวดเคหสถาน (ผลกระทบร้อยละ 0.01) อาทิ ค่าเช่าบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 3) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา (ผลกระทบร้อยละ 0.01) เนื่องมาจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2559 ในขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาโดยรวมปรับลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ผักสด (ถั่วฝักยาว มะนาว มะเขือ) ไก่สด และส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อ (MoM) ร้อยละ -0.03

โดยสรุปแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี2559(เฉลี่ย ม.ค.-มิ.ย.59)อยู่ที่ร้อยละ -0.09 และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงขึ้นปีหลัง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่า ณ สิ้นปี 2559 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ ร้อยละ 0.0 - 1.0

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2559

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 107.05 (เดือนพฤษภาคม 2559 เท่ากับ 107.02)

2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                                   การเปลี่ยนแปลง     ร้อยละ
          2.1 เดือนพฤษภาคม 2559 (MoM)                    สูงขึ้น           0.03
          2.2 เดือนมิถุนายน 2558 (YoY)                     สูงขึ้น           0.38
          2.3 เฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม - มิถุนายน 2558)        ลดลง          -0.09

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนพฤษภาคม 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.03 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 (MoM) ร้อยละ 0.03 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศสูงขึ้นร้อยละ 0.99) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าธรรมเนียมมัธยมศึกษาสายสามัญภาครัฐบาลและเอกชน) หมวดเคหสถานสูงขึ้น ร้อยละ 0.04 (ค่าเช่าบ้าน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (สุรา) ในขณะที่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.17 (เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวบุรุษ) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ -0.07 (ผักสดและผลไม้สด ข้าวสารเจ้า) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ -0.05 (ค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย และผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว)

2.2 เทียบเดือนมิถุนายน 2558 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.38 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 (YoY) ร้อยละ 0.38 โดยยังคงได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ อาทิ บุหรี่ สูงขึ้นร้อยละ 13.07 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.80 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.97 (ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าธรรมเนียมมัธยมศึกษาสายสามัญภาครัฐบาลและเอกชน) หมวดการตรวจค่าตรวจรักษาและค่ายา สูงขึ้นร้อยละ 0.89 (ค่าเบี้ยประกันชีวิต และค่ารักษาพยาบาล) และหมวดเครื่องนุ่งห่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.34 ในขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -2.37 (น้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และก๊าชยานพาหนะ (LPG) ) และหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.41 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม)

2.3 เทียบเดือนมกราคม - มิถุนายน 2559 กับ เดือนมกราคม - มิถุนายน 2558 (AoA) ลดลง ร้อยละ 0.09 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 6 เดือน (เดือนม.ค.-มิ.ย..59/เดือนม.ค.-มิ.ย.58) ลดลงร้อยละ -0.09 (AoA) ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นลำดับแรกเมื่อเทียบกับหมวดอื่น ร้อยละ -3.44 (น้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 E20 E85) หมวดเคหสถาน ร้อยละ -0.76 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ทั้งนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.07 ในขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.74, 1.10, 0.88, 0.47 ตามลำดับ

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ คาดการณ์ ณ มิ.ย. 59

          1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) (ร้อยละต่อปี)       3.3     (2.8-3.8)
          2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ (เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล)              35       (30-40)
          3.อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/เหรียญสหรัฐฯ)                  37       (36-38)

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 35.31 บาทต่อดอลลาร์ และ 46.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2559) ตามลำดับ

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพ และอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อราคาพืชและผักสด

โรคระบาดปศุสัตว์ในบางพื้นที่ (ภาคใต้)

มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน การลงประชามติออกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและรายได้จากภาคการส่งออก และต่อเนื่องถึงรายได้ภาคครัวเรือน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ