ภาวะการใช้จ่ายเพื่อการครองชีพของครัวเรือนขยายตัวอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ดีสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้จากภาคเกษตรกรรมและภาคบริการที่สูงขึ้น และมาตรการการสนับสนุนของรัฐบาล
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 (YoY) จากสินค้าอาหารเป็นสำคัญ อาทิ สินค้าอาหารสด อาทิ ผักและผลไม้สด กับข้าวสำเร็จรูป ปลาและสัตว์น้ำ และ บุหรี่ผลจากการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการโดยรวมเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ -0.04 (MoM) โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ที่ราคาลดลงได้แก่ ครีมนวดผม กาแฟผงสำเร็จรูป และกระดาษชำระขณะที่ น้ำตาลทราย นมสด ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นเล็กน้อย
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนสิงหาคม 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ 100) เท่ากับ 106.64 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 สูงขึ้น ร้อยละ 0.29 (YoY) เป็นผลจาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญและส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.67 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ผลไม้สด อาทิ ทุเรียนกล้วยน้ำว้า มะม่วง มะพร้าวอ่อน 2) กับข้าวสำเร็จรูป 3) ผักสด อาทิ ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี มะนาว กระเทียม และหัวหอมแดง 4) ปลาและสัตว์น้ำ อาทิ ปลาทูนึ่งและกุ้งขาว 5) ไข่ไก่ (ผลกระทบร้อยละ 0.20, 0.08, 0.08, 0.07 และ 0.04 ตามลำดับ) 2) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จากผลสะสมของปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือนก.พ.59 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.18 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวได้ต่ำถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแต่ราคายังคงต่ำกว่าปีก่อนหน้า ดังนั้นหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ยังคงกดดันอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดียวกันกับ หมวดเคหสถาน ที่ราคาลดลงจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนมกราคม-เมษายน ส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ -0.33 และ -0.32 ตามลำดับ
เมื่อเทียบเดือนกรกฎาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.04 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (น้ำมันเบนซิน 95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95) ที่ปรับลดลงร้อยละ -2.0 ใน หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ร้อยละ -0.11 อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าใน หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ ผักสดและผลไม้สด (ผักชี ผักคะน้า กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า) ไก่สด และไข่ไก่ สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ร้อยละ 0.05
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อ (ณ เดือนกันยายน 2559) ที่ร้อยละ 0.0 - 1.0 (AoA) โดยปรับสมมติฐานในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35 - 45 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 35 - 37 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ทั้งนี้ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบดูไบนั้นถูกชดเชยด้วยผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ช่วงประมาณการยังอยู่ในกรอบเดิม นอกจากนี้ สนค. มองว่าเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/2559 จะปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงในช่วงเทศกาลปลายปีตามรายได้ที่สูงขึ้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2559
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ
1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.64 (เดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 106.68)
2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.1 เดือนกรกฎาคม 2559 (MoM) ลดลง -0.04 2.2 เดือนสิงหาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.29 2.3 เฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม 2558) ลดลง -0.03
โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เทียบเดือนกรกฎาคม 2559 (MoM) ลดลง ร้อยละ -0.04 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2559 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2559 (MoM) ร้อยละ -0.04 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.50 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงร้อยละ -2.0) ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.14 (ผลไม้สด ไก่สด ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.11 (กางเกงบุรุษและสตรี) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.08 (ค่าลงทะเบียน - ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาภาคเอกชน หนังสืออ่านเล่น) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.08 (ค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย และค่ายา) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.02 (ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.02 (บุหรี่ สุรา)
2.2 เทียบเดือนสิงหาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.29 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2558 (YoY) ร้อยละ 0.29 ได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 13.06 อาทิ บุหรี่ (สูงขึ้นร้อยละ 28.16) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.88 หมวดการตรวจค่าตรวจรักษาและค่ายา สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่ารักษาพยาบาลคนไข้นอก) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.53 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.47 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน ค่าห้องพักโรงแรม) ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.32 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -1.44 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 ดีเซล และก๊าชยานพาหนะ (LPG))
2.3 เทียบเดือนมกราคม - สิงหาคม 2559 กับ เดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 (AoA) ลดลง ร้อยละ -0.03 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในระยะ 8 เดือน (เดือนม.ค.-ส.ค.59/เดือนม.ค.-ส.ค.58) ลดลงร้อยละ -0.03 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นลำดับแรกเมื่อเทียบกับหมวดอื่น ร้อยละ -3.01 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน 95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 E20 E85) หมวดเคหสถาน ร้อยละ -0.92 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ทั้งนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.57 ในขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.76, 0.94, 0.88, 0.48 ตามลำดับ
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือประมาณการ มีนาคม และ มิถุนายน กันยายน
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.3 (2.8 - 3.8) 3.3 (2.8 - 3.8)
คงประมาณการ ในปี 2559 การขยายตัวเศรษฐกิจมี ปัจจัยสนับสนุน 1) การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ 2) รายได้เกษตรกรและภาคบริการเพิ่มขึ้น สนับสนุนกำลังซื้อครัวเรือน ปัจจัยเสี่ยง 1) เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด 2) ผลกระทบเพิ่มเติมจากการลงประชามติในสหราชอาณาจักร 3) ผลกระทบภาคการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ในเดือนสค.59
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 35.0 (30.0 - 40.0) 40.0 (35.0 - 45.0)
ปรับเพิ่มประมาณการ เนื่องจาก อุปสงค์มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหน้าหนาวโดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐ อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบยังคงทรงตัว
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 37 (36.0 - 38.0) 36 (35.0 - 37.0)
ปรับลดประมาณการ เนื่องจากค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นสาเหตุจากตลาดลดการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในเดือนกย. และ ธค.59
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ และ 43.83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2559) ตามลำดับ
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพ และอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคการส่งออก และรายได้ภาคครัวเรือน
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825