ดัชนีราคาส่งออก เดือนกรกฎาคม 2559 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) นับเป็นการปรับตัวสูงขึ้นครั้งแรก หลังจากติดลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 โดยปัจจัยหลักเป็นผลมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ดัชนีราคานำเข้าเดือนกรกฎาคม 2559 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.4 (YoY) สาเหตุมาจากสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่ล้นตลาด นอกจากนั้น ยังมีสินค้านำเข้าสำคัญอื่นๆ ที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เหล็ก สินแร่โลหะต่างๆ เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย เป็นต้น
ดัชนีราคาส่งออก เดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 96.9 (ปี 2555 = 100) เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในหมวดสินค้าสำคัญ ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว และกุ้งแช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับกุ้งมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย จากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ผลผลิตตลาดโลกลดลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าส่งผลให้มีความต้องการทองคำสูงขึ้นเพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย สำหรับรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาสูงขึ้นจากความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพื่อนำมาใช้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาด ขณะที่อุปสงค์ชะลอตัว
ดัชนีราคานำเข้า เดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 84.4 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.4 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่กดดันให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลงมีสาเหตุมาจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป โดยราคาน้ำมันที่ลดลงได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคที่สูงขึ้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่ล้นตลาด ขณะที่หมวดสินค้านำเข้าอื่นปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2559
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 96.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 96.8) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนกรกฎาคม 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 86.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 99.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 98.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 89.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา และกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อสินค้ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ประกอบกับไทยได้รับการประเมินการปรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในลำดับที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ ราคาสูงขึ้นจากปัจจัยหนุนคือค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่า ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คาดการณ์ว่าจะกำหนดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการทองคำในตลาดโลกสูงขึ้น สำหรับเคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นจากปริมาณการผลิตเหล็กในจีนลดลงจากภาวะน้ำท่วม ทำให้โรงงานไม่สามารถทำการผลิตได้ ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ราคาลดลงจากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาดและปริมาณสำรองยังอยู่ในระดับสูง แต่อุปสงค์ยังคงทรงตัว
2.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตสินค้าที่ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงปรับลดลง ได้แก่ น้ำมันตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ทยอยปรับลดลงในช่วงก่อนหน้า
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ราคาส่งออกปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2559
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 84.4 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 84.4) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนกรกฎาคม 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 48.3 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 99.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 91.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.4 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 (MoM) ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
สินค้านำเข้าปรับสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ทองคำ เนื่องมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ หลังจากคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากวัตถุดิบได้ปรับราคาสูงขึ้น จากการที่จีนได้ปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพและมีนโยบายลดกำลังการผลิตลง นอกจากนี้ ยังมีหมวดสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นคือ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและยารักษาโรค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง จากราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมและน้ำมันสำเร็จรูป โดยราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่ล้นตลาด เนื่องจากกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปคและจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น
2.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 3.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง โดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผักผลไม้และของปรุงแต่งจากผักและผลไม้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 5.9 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงโดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ ปุ๋ย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ซึ่งในภาพรวมนั้น สินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในช่วงปีก่อน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ราคานำเข้าได้มีการปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825